วันที่ 16 พฤษภาคม 2568 ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมเป็นเจ้าภาพเปิดโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาว หรือ โครงการ StAR ประเทศไทย (Stegostoma tigrinum Augmentation and Recovery) ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับภาคีความร่วมมือระดับนานาชาติจากหลายภาคส่วน ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) กรมประมง (ปม.) อควาเรีย ภูเก็ต โรงแรมเกาะไม้ท่อน องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) และองค์กรโอเชี่ยน บลู ทรี (Ocean Blue Tree) จัดทำขึ้น ในการนี้มี คุณเมธาวี จึงเจริญดี ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาว องค์กรไวล์ดเอด และภาคีเครือข่ายร่วมเป็นเจ้าภาพเปิดงาน ณ สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต และเกาะไม้ท่อน จ.ภูเก็ต เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรปลาฉลามเสือดาวอินโด-แปซิฟิก (Stegostoma tigrinum) สัตว์ป่าคุ้มครองใกล้สูญพันธุ์ของไทย ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงและปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติในถิ่นอาศัยเดิม ซึ่งทีมงานโครงการ StAR ได้เคลื่อนย้ายลูกฉลามเสือดาวจํานวน 9 ตัว อายุราว 1 ปี 2 เดือน ขนาดประมาณ 80-110 ซม. ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงโดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของอควาเรีย ภูเก็ต จากศูนย์ชีววิทยาทางทะเล ภูเก็ต ไปยังคอกทะเลที่สร้างขึ้นใหม่ที่เกาะไม้ท่อน ซึ่งจะเป็นแหล่งอาศัยชั่วคราวเพื่อให้ลูกฉลามปรับตัวก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และในอนาคตจะติดอุปกรณ์เพื่อติดตามตำแหน่งให้ลูกฉลาม เพื่อเพิ่มมาตรการคุ้มครองและติดตามอัตราการรอดหลังการปล่อยที่มีประสิทธิภาพ
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี ได้กล่าวถึงการเปิดตัวโครงการในครั้งนี้ว่า “ตามนโยบาย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรทางทะเล กรม ทช. จึงได้ร่วมกับภาคีความร่วมมือจัดทำโครงการนี้ขึ้น เนื่องจากปลาฉลามเสือดาวมีบทบาทสำคัญในการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศแนวปะการัง และยังมีส่วนช่วยกระตุ้นธุรกิจกิจกรรมดำน้ำลึกเชิงท่องเที่ยวอีกด้วย เพราะเป็นปลาฉลามที่ผู้ชื่นชอบการดำน้ำอยากจะเห็น โดยที่ผ่านมากรม ทช. ได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ประชากรปลาฉลามเสือดาว ตลอดจนผลักดันให้ปลาฉลามเสือดาวได้รับการประกาศเป็นสัตว์คุ้มครอง และมีความภูมิใจที่ได้สนับสนุนการก่อสร้างคอกเลี้ยงในทะเลเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับลูกฉลามก่อนการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ผมรู้สึกยินดีที่ได้เห็นความร่วมมือในการทํางานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรอนุรักษ์ และภาคเอกชน ในการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดใหม่ของประเทศไทย” ในขณะที่ คุณเมธาวี จึงเจริญดี ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาว องค์กรไวล์ดเอด กล่าวว่า “เนื่องจากประชากรของฉลามและกระเบนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง การฟื้นฟูเป็นเรื่องที่ท้าทายเนื่องจากพวกมันมีการเจริญเติบโตช้า โตเต็มวัยช้า และมีอัตราการสืบพันธุ์ต่ำ การเพาะเลี้ยงและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ (rewilding) จึงเป็นความหวังสำคัญในการรักษาประชากรไว้และช่วยส่งเสริมอัตราการฟื้นตัวของประชากร นอกจากนั้น เรายังจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดภัยคุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อฉลามและกระเบน ตั้งแต่เรื่องการทำประมงเกินขนาดไปจนถึงการทำลายถิ่นอาศัย”
โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาว หรือ StAR ประเทศไทย เป็นโครงการระดับนานาชาติริเริ่มโดยองค์กร ReShark ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติที่ประกอบด้วยองค์กรอนุรักษ์กว่า 100 แห่ง รวมถึงสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ หน่วยงานภาครัฐ และพันธมิตรอื่น ๆ ที่มีเป้าหมายฟื้นฟูประชากรฉลามและกระเบนที่ใกล้สูญพันธุ์ทั่วโลก โดยเริ่มต้นขึ้นที่หมู่เกาะราชาอัมพัต ประเทศอินโดนีเซียเป็นที่แรกของโลกเมื่อปี พ.ศ. 2565 และโครงการในประเทศไทยเป็นแห่งที่สอง โดยเริ่มขึ้นอย่างไม่เป็นทางการเมื่อปีที่แล้ว จากการสานต่อโครงการ “Spot the Leopard Shark – Thailand” โครงการวิทยาศาสตร์พลเมืองที่เชิญชวนให้นักดำน้ำร่วมส่งภาพถ่ายและวิดีโอการพบเห็นฉลามเสือดาวที่ถ่ายได้ในน่านน้ำไทย เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ประเมินจํานวน พฤติกรรมและแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งปัจจุบัน โครงการนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ความสามารถในการดํารงอยู่ของประชากร เพื่อประเมินความเสี่ยงของการสูญพันธุ์ของฉลามเสือดาวในประเทศไทย และคาดการณ์แนวโน้มการเพิ่มหรือลดลงของประชากร ผลจากการวิเคราะห์ดังกล่าวจะเป็นข้อมูลสําคัญในการกําหนดแนวทางการอนุรักษ์ในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการกําหนดพื้นที่สําหรับปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ จํานวนฉลามเสือดาวที่เหมาะสมต่อการปล่อย รวมถึงการกำหนดมาตรการติดตามหลังการปล่อยเพื่อศึกษาอัตราการรอด