ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย ซาอุดีอาระเบียพบผู้ป่วย “โรคเมอร์ส” 9 รายในฮาอิลและริยาด เสียชีวิต 2 ราย ความเสี่ยงอยู่ระดับปานกลาง เตือนชาวไทยมุสลิมที่จะไปแสวงบุญฮัจย์เข้มป้องกันตนเอง กำชับทีมแพทย์ที่ไปร่วมดูแลสุขภาพย้ำผู้แสวงบุญปฏิบัติตามแนวทางป้องกัน คือ หลีกเลี่ยงสัมผัสอูฐ หลีกเลี่ยงไปโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วย ล้างมือบ่อยๆ และสวมหน้ากากอนามัย พร้อมเฝ้าระวังสุขภาพหลังกลับไทย 14 วัน หากมีอาการป่วยทางเดินหายใจให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา
วันที่ 16 พฤษภาคม 2568 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีข่าวราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส ว่า กระทรวงสาธารณสุขของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียรายงานการติดเชื้อไวรัสโคโรนากลุ่มอาการทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS-CoV) ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 21 เมษายน 2568 รวม 9 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยพบผู้ป่วยอยู่ในฮาอิล 1 ราย และริยาด 8 ราย ซึ่งในริยาดพบกลุ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 6 รายติดเชื้อจากการดูแลผู้ป่วยเพียงรายเดียว โดย 4 รายไม่มีอาการ และ 2 รายมีอาการไม่รุนแรง ไม่เฉพาะเจาะจง คือ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และอาเจียน ซึ่งเป็นการติดต่อที่ไม่ได้สัมผัสกับอูฐหรือผลิตภัณฑ์จากอูฐโดยตรง แสดงให้เห็นว่าไวรัสยังคงมีการระบาดในอูฐและแพร่กระจายไปยังมนุษย์ อย่างไรก็ตาม จากการประเมินความเสี่ยงโดยรวมถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค เนื่องจากมีการรายงานการติดเชื้อ MERS-CoV ต่อองค์การอนามัยโลก ที่ได้รับการยืนยันทางห้องปฏิบัติการทั้งหมด 2,627 ราย จาก 27 ประเทศ ส่วนใหญ่ 84% มาจากซาอุดีอาระเบีย และตั้งแต่ปี 2019 ไม่มีรายงานการติดเชื้อ MERS-CoV ในมนุษย์จากประเทศนอกตะวันออกกลาง
“โรคเมอร์สเป็นโรคระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร จะแสดงอาการหลังรับเชื้อ 2-14 วัน อาการที่พบคือ ไข้สูง ไอ หายใจหอบเหนื่อย บางรายมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน กรณีที่อาการรุนแรงอาจทำให้ปอดอักเสบ ไตวาย และเสียชีวิตได้ อัตราการเสียชีวิตสูงเนื่องจากไม่มีวัคซีนและยาต้านไวรัสที่จำเพาะ ต้องดูแลรักษาตามอาการแบบประคับประคอง ติดต่อมาสู่คนโดยมีอูฐเป็นแหล่งรังโรค วิธีการแพร่เชื้อยังไม่ชัดเจน แต่อาจเกิดจากดื่มนมอูฐที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อหรือรับประทานเนื้ออูฐที่ไม่สุก ส่วนการติดต่อจากคนสู่คนจะผ่านทางละอองน้ำมูก/น้ำลายของผู้มีเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิด” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ที่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 4-9 มิถุนายน 2568 ซึ่งลงทะเบียนไว้ทั้งหมด 6,603 คน และได้ทยอยเดินทางไปแล้วตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้กำชับให้ทีมแพทย์ที่ส่งไปดูแลสุขภาพชาวไทยมุสลิมระหว่างประกอบพิธีให้ความรู้และเน้นย้ำถึงแนวทางปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค คือ 1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสอูฐหรือเข้าไปสัมผัสฟาร์มสัตว์ รวมถึงการดื่มนมอูฐที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อและไม่รับประทานเนื้ออูฐดิบหรือสุกๆ ดิบๆ 2.หลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาลในพื้นที่ที่มีการระบาดโดยไม่จำเป็น รวมถึงการอยู่ในสถานที่แออัด และ 3.รักษาสุขอนามัย โดยหมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจล ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น สวมหน้ากากอนามัยและไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย ส่วนผู้แสวงบุญที่เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่จะติดตามเฝ้าระวังสุขภาพต่อเนื่องอีก 14 วัน เพื่อความปลอดภัย ระหว่างนี้หากมีอาการป่วยทางเดินหายใจให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา