นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมทุกคนสามารถเข้ารับบริการในสถานพยาบาลที่ตนเองเลือก โดยผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ ตามที่กฎหมายกำหนดและครอบคลุมการรักษาทุกสาขาวิชาตามมาตรฐานทางการแพทย์ สามารถใช้สิทธิการรักษาได้ทุกโรค ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยจนสิ้นสุดการรักษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เข้ารับบริการได้รับการรักษาด้วยตัวยาที่มีมาตรฐาน (ไม่ต่ำกว่าบัญชียาหลักแห่งชาติ) รวมถึงกรณีที่สถานพยาบาลตามสิทธิ ส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูง ซึ่งในปี 2568 สำนักงานประกันสังคมมีสถานพยาบาลคู่สัญญาที่พร้อมให้บริการทางการแพทย์ จำนวน 271 แห่ง แยกเป็นสถานพยาบาลภาครัฐ จำนวน 174 แห่ง และเอกชน จำนวน 97 แห่ง นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคม ให้ความสำคัญกับผู้ประกันตนในเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่สะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลาการรอคอย ลดภาวะแทรกซ้อน ไม่ให้อาการของโรคมีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้ง ช่วยลดระยะเวลาในการพักฟื้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกันตนสามารถกลับไปทำงานได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ภายใต้การเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อการเข้าถึง ดังนี้
การเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ได้แก่ หัตถการโรคหลอดเลือดสมอง และหัตการโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่มีความรุนแรง จำเป็นต้องรักษาอย่างทันท่วงที โดยโรคหลอดเลือดสมอง ต้องได้รับการรักษาภายใน 6 ชั่วโมง นับตั้งแต่ที่มาถึงสถานพยาบาล และโรคหัวใจและหลอดเลือด ต้องได้รับการรักษาภายใน 60 นาที และเป็นโรคที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่มีศักยภาพ โดยกำหนดให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่ทำความตกลง ได้แก่ สถานพยาบาลให้บริการหัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 40 แห่ง และสถานพยาบาลให้บริการหัตถการโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 12 แห่ง ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2568 เพิ่มทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็งนอกเหนือจากสถานพยาบาลตามสิทธิ โดยผู้ประกันตนสามารถเลือกรักษากับสถานพยาบาลที่มีศักยภาพและเชี่ยวชาญในการรักษาโรคมะเร็งตามที่สำนักงานกำหนดเพิ่มเติมได้ จึงทำให้ครอบคลุมการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด อีกทั้ง ยังสนับสนุนค่ายาในบัญชียาหลักแห่งชาติและนอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาฮอร์โมนและยามุ่งเป้า ซึ่งเป็นยาราคาสูงที่อยู่ในบัญชียา จ(2) ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (ปลูกถ่ายไขกระดูก) คุ้มครอง 8 โรค โดยไม่จำกัดจำนวนผู้ป่วยในการเข้ารับบริการกรณีปลูกถ่ายโดยใช้เนื้อเยื่อตนเองหรือพี่น้องหรือเนื้อเยื่อผู้บริจาคที่บริจาคผ่านสภากาชาดไทยในอัตรา 750,000 – 1,300,000 บาท/ราย
การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เน้นการป้องกันดีกว่าการรักษา เพิ่มเติมจากสิทธิพื้นฐาน (สปสช.) โดยเพิ่มความถี่ช่วงอายุในการตรวจ และเพิ่มรายการในการตรวจสุขภาพที่จำเป็น เช่น การตรวจมะเร็งเต้านม การตรวจการทำงานของไต การคัดกรองการได้ยิน และการเอ็กซเรย์ทรวงอก เป็นต้น โดยผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด นอกจากนี้ ได้จัดบริการตรวจสุขภาพเชิงรุกไปยังสถานประกอบการและชุมชนต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการตรวจสุขภาพที่สะดวก รวดเร็ว รวมทั้งมีการติดตามประเมินผลสุขภาพของผู้ประกันตน และมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้ผู้ประกันตนอายุ 50 ปีขึ้นไปอีกด้วย
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า สำนักงานประกันสังคมพร้อมพัฒนาสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มโรค และเกิดประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ประกันตนต่อไป