องคมนตรี ติดตามการพัฒนางานโรงพยาบาลพนมดงรักเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จ.สุรินทร์ ซึ่งโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับเงิน มีการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ เพิ่มการเข้าถึงบริการ 4 กลุ่มวัย จัดทำแผนที่สุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังและเฝ้าระวังที่สำคัญ 9 กลุ่มโรค ครอบคลุมทุกหลังคาเรือน ให้บริการการแพทย์ทางไกล ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วยมะเร็ง/ระบบประสาทได้ 2,000 บาทต่อครั้ง พร้อมพัฒนาตามแนวทางการเป็นรมณียสถานเพิ่มพื้นที่สีเขียว ติดตั้งโซล่าเซลล์ลดค่าไฟฟ้าเฉลี่ยได้ถึง 46,000 บาทต่อเดือน
วันที่ 15 พฤษภาคม 2568 ที่ โรงพยาบาลพนมดงรักเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จ.สุรินทร์ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี พร้อมด้วย นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 และคณะผู้บริหาร ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจการปฏิบัติงานและติดตามความก้าวหน้าการพัฒนางานสำคัญของโรงพยาบาล พร้อมมอบของเยี่ยมให้กับผู้ป่วย
นายเดชอิศม์ กล่าวว่า โรงพยาบาลพนมดงรักเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 30 เตียง ดูแลประชากร 37,532 คน มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพในเครือข่าย 7 แห่ง ให้บริการผู้ป่วยนอกเฉลี่่ยวันละ 216 คน ผู้ป่วยในเฉลี่่ยวันละ 32 คน โรคที่เป็นปัญหาสำคัญ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ กระเพาะอาหาร กล้ามเนื้ออักเสบ และโรคหลอดเลือดสมอง มีการขับเคลื่อนกิจกรรมและโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ที่สำคัญ อาทิ โครงการโรงพยาบาลสร้างสุขสู่ชุมชน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ยากไร้ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้ป่วยติดเตียงและผู้พิการ และโครงการหน่วยแพทย์อาสามูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล ถวายเป็นพระราชกุศลฯ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ ครบรอบ 70 พรรษา วันที่ 2 เมษายน 2568
นายเดชอิศม์ กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลได้พัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิชุมชนเข้มแข็งผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เน้น 4 กลุ่มวัย ได้แก่ วัยสูงอายุ วัยทำงาน วัยรุ่น และวัยเด็ก อาทิ บริการคลินิกผู้สูงอายุเคลื่อนที่ โรงเรียนผู้สูงอายุ บริการรากฟันเทียม แขนขาเทียม ใช้สมุนไพรและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นในการบำบัดรักษาด้วยการแพทย์ผสมผสาน แพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน แพทย์พื้นบ้านและแพทย์วิถีธรรม จัดตั้งคลินิก NCDs รักษาหาย (NCDs Remission Clinic) ช่วยให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เข้ารับบริการในคลินิกฯ หยุดยาได้ร้อยละ 31.34 อีกทั้งยังมี “โครงการครูนางฟ้า” คัดกรองปัญหาสุขภาพจิตและสารเสพติดในกลุ่มเยาวชนวัยเรียน และใช้ ICAP (Integrate child active learning program) สร้างการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำในห้องเรียน เน้นความสัมพันธ์ในห้องเรียนให้เหมาะกับพัฒนาการของเด็ก
นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาสู่การเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับเงิน ที่ผ่านเกณฑ์การประเมินความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับสูง พัฒนาระบบ Thailand health atlas จัดทำแผนที่สุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังและเฝ้าระวังที่สำคัญ 9 กลุ่มโรค ครอบคลุมทุกหลังคาเรือน ให้บริการการแพทย์ทางไกล Telehealth Telemedicine/Home ward ช่วยลดระยะเวลารอคอย ลดความแออัด ลดการสูญเสียรายได้ในการประกอบอาชีพ สามารถลดค่าใช้จ่ายในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง/โรคระบบประสาทได้ 2,000 บาทต่อครั้ง และกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 100-300 บาทต่อครั้ง ตลอดจนพัฒนาโรงพยาบาลเป็นรมณียสถาน ปรับภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ติดตั้งโซล่าเซลล์ ช่วยลดค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 46,000 บาทต่อเดือน และมีแผนพัฒนาสู่ “ดงรัก” wellness center for lifestyle modification & การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างอาคารฟื้นฟูสุขภาพและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (IMC ward) และศูนย์สุขใจใกล้บ้าน และสถานชีวาภิบาล