สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า เสด็จฯเปิดงานวันลองกอง ของดีเมืองนรา ประจำปี 2562

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังพลับพลาพิธี สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ถ.ศูนย์ราชการ ต.ลำภู อ.เมือง จ.นราธิวาส ใน “งานวันลองกอง” ในงานของดีเมืองนรา ครั้งที่ 44 ประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 17 ถึงวันที่ 26 กันยายน นี้ เพื่อแสดงผลงานที่ผ่านการส่งเสริมให้เกษตรกรในจังหวัดนราธิวาส สำหรับแนวคิดการจัดงานในปีนี้ ได้แก่ “สืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชา การเกษตรก้าวหน้า ปวงประชาเป็นสุข” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกษตรกรได้นำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติ สามารถสร้างความมั่นคงด้านอาชีพ สร้างรายได้ให้มีความมั่งคั่ง และพัฒนาตนเอง ครัวเรือน สู่ชุมชนที่พึ่งตนเอง ได้อย่างยั่งยืน ผ่านการรับชมนิทรรศการ ทั้งนิทรรศการกลางแจ้ง มีนายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมถวายรายงาน การจัดงานจัดนิทรรศการกลางแจ้งแบบมีชีวิต จัดสรรพื้นที่ทำการเกษตร ที่ใช้พื้นที่ ใช้แรงงาน ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่า โดยการปลูกพืชผักกินผล กินใบ ในลักษณะเป็นแปลง เป็นซุ้มไม้เลื้อย ยกแคร่และผักในภาชนะ ที่สวยงาม หลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชา ด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรในการลดความเสี่ยงจากราคาผลผลิตตกต่ำหรือสภาพอากาศแปรปรวนผลผลิตไม่ออกตามฤดูกาล

นิทรรศการแสดงผลงานส่งเสริมการเกษตร และสถาบันเกษตรกร 8 ประกอบด้วย 1. ลองกองอัตลักษณ์ ผลไม้นราฯ พลิกฟื้นพัฒนา สู่สากล 2. ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ สู่ชีวิตปลอดภัย ห่างไกลสารเคมี 3. เศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงชีพยั่งยืน 4. ภูมิปัญญาทางบัญชี สร้างวิถีสู่อนาคต 5. เกษตรอินทรีย์ วิถีชาวนรา 6. ตลาดลองกอง 4.0 เพิ่มพูนรายได้ 7. มะพร้าวอามาน แปรรูปหลากหลาย สร้างรายได้ระยะยาว และ 8. ยุวเกษตรกรรุ่นจิ๋ว หัวใจแจ๋ว โรงเรียนบ้านลูโบ๊ะกาเยาะ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

นิทรรศการที่ 1 “ลองกองอัตลักษณ์ ผลไม้นราฯ พลิกฟื้นพัฒนา สู่สากล” เป็นการ สืบสาน รักษา ต่อยอด การพัฒนา “ลองกอง” ผลไม้อัตลักษณ์ของจังหวัดนราธิวาส เนื่องจากเป็นผลไม้ประจำถิ่นที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรปีละหลายล้านบาท สืบสานตำนานลองกองนราธิวาสให้มีคุณภาพดี รักษาหรืออนุรักษ์เพื่อสร้างคุณค่าลองกองให้คนท้องถิ่นเกิดการรัก และหวงแหนในอัตลักษณ์ของลองกองที่มีแหล่งกำเนิด ให้คงอยู่คู่กับชาวนราธิวาส โดยการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ต่อยอดการพัฒนาลองกอง ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรที่เหมาะสมมาปรับใช้ ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่ม ของเกษตรกรในการบริหารจัดการลองกองตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) เพื่อให้ลองกองมีคุณภาพ ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการ การสร้างมูลค่าเพิ่ม สามารถขยายช่องทางการตลาดให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย และกว้างไกล และสามารถยกระดับคุณภาพลองกองซีโป ลองกองตันหยงมัส และลองกองนราธิวาส เป็นสินค้าระดับ Premium นำไปสู่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาด

นิทรรศการที่ 2 “ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ สู่ชีวิตปลอดภัย ห่างไกลสารเคมี”ทั้งนี้ กลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาลองกอง ให้มีคุณภาพ ใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) การส่งเสริมการเกษตร ระบบแปลงใหญ่ ศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชน ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิต สารชีวภัณฑ์และสมุนไพรใช้เอง ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช และศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี และผสมปุ๋ยใช้เองตามค่าวิเคราะห์ดิน

นิทรรศการที่ 3 “เศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงชีพยั่งยืน” เป็นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาล ที่ 9 สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ เพื่อมุ่งเน้นการสร้างภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงจากราคาผลผลิตตกต่ำ หรือสภาพอากาศแปรปรวน ผลผลิตออกไม่ตรงตามฤดูกาล ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชผักเสริมรายได้ ในสวนลองกอง ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ภายใต้แนวคิด “การตลาดนำการผลิต” เพื่อศึกษาและนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนการผลิต ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง เกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรในพื้นที่ สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรในขณะที่ลองกองไม่ติดดอกออกผลตามฤดูกาล ส่งผลให้ลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ในครัวเรือนเกษตรกร นำไปสู่การนำเสนอ

นิทรรศการที่ 4 “ภูมิปัญญาทางบัญชี สร้างวิถีสู่อนาคต” ส่งเสริมการจัดทำบัญชี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาด้านการเกษตร โดยส่งเสริมการจัดการด้านบัญชีครัวเรือนและบัญชีรายกิจกรรม เพื่อใช้สำหรับวางแผนการผลิต การตลาดให้มีประสิทธิภาพ “รู้รับ รู้จ่าย รู้รายได้” มีการบริหารการเงินที่สมดุล สร้างชีวิตที่ดี เศรษฐกิจชุมชนมั่นคง

นิทรรศการที่ 5 หัวข้อ “เกษตรอินทรีย์ วิถีนรา” นำเสนอต้นแบบ ลองกองอินทรีย์ ของนายเมธี บุญรักษ์ เกษตรกรต้นแบบ (Smart Farmer) ที่ใช้ระบบการจัดการด้านการเกษตรแบบองค์รวม เกื้อหนุนระบบนิเวศน์ “ห่มดินด้วยแฝก” ปลูกพืชหลากหลายพึ่งพิงอิงอาศัยกันตามวิถีของธรรมชาติ ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมคืนสู่สมดุลธรรมชาติโดยไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ ส่งผลให้ได้รับการรับรองการผลิตพืชอินทรีย์รายแรกของจังหวัด ในเนื้อที่ 10 ไร่ 5 ชนิดพืช ได้แก่ ลองกอง มังคุด สละอินโด พริกไทย และกาแฟ

นิทรรศการที่ 6 “ตลาดลองกอง ๔.๐ เพิ่มพูนรายได้” จากการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะลองกองคุณภาพ ให้ได้มาตรฐานตามตลาดต้องการนั้น ได้ยกระดับลองกองคุณภาพสู่ตลาดลองกอง Premium โดยบริหารจัดการด้านการตลาด ใช้“ตลาดนำการผลิต” พัฒนาเกษตรกรสู่การเป็นผู้ประกอบการ ด้านการเกษตร กระจายสินค้าสู่บริโภค ผ่านระบบออนไลน์ ในยุค 4.0 นิทรรศการที่ 7 มะพร้าวอามาน แปรรูปหลากหลาย สร้างรายได้ระยะยาว เป็นการนำเสนอการส่งเสริมและพัฒนาสถาบันเกษตรกร Smart Group ต้นแบบ ผลสำเร็จการรวมกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ต่อยอดสู่วิสาหกิจชุมชน จากเดิม 23 ราย เชื่อมโยงแปลงใหญ่มะพร้าว สมาชิกเพิ่มขึ้น 55 ราย เกิดผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าว จำนวน 23 ประเภท และได้รับมาตรฐาน Primary GMP ขยายฐานการผลิตและการตลาด สู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้กับสมาชิก ส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ และ นิทรรศการที่ 8 “ยุวเกษตรกรรุ่นจิ๋ว หัวใจแจ๋ว โรงเรียนบ้านลูโบ๊ะกาเยาะ” ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาโดยผ่านกระบวนการกลุ่ม แบบมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มฯ มีการบริหารจัดการกิจกรรมและผลประโยชน์ร่วมกัน ปลูกฝังให้มีทัศนคติที่ดี บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่รักการเกษตร ปลูกผักปลอดภัย เลี้ยงปลา เพาะเห็ด แปรรูปเห็ด เป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม “นางฟ้ากรุบกรอบ” สร้างรายได้ สร้างอาชีพ สืบสาน รักษา ต่อยอดการเกษตร ให้มีความก้าวหน้า ขยายผลสู่ชุมชน

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการประกวด ประเภทผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่

ผลลองกอง รางวัลที่ 1 นายนิดิง นิแว อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส

ผลเงาะโรงเรียน รางวัลที่ 1 นายไสว บุตรจีน อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส

ผลทุเรียนพันธุ์หมอนทอง รางวัลที่ 1 นายมะบักกรี เจะเลาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

ผลมังคุด รางวัลที่ 1 นายอนุวงศ์ ช่างอุดม อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผลปาล์มน้ำมัน รางวัลที่ 1 นายการียา ซู ตำบลบาเระใต้ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส

สละน้ำผึ้ง รางวัลที่ 1 นายอาแซ สามะ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส

มะพร้าวน้ำหอม รางวัลที่ 1 นางอาภาค อาทรวิริยกุล อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

สะตอข้าว รางวัลที่ 1 นายอับดุลนาเซร์ วาแฮ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาสประกวด

สะตอดอง รางวัลที่ 1 นายมะรอนิง อาแว เกษตรกรจาก ตำบลจะแนะ อำเภอจะแนะ