สพป.พิษณุโลก เขต 3 ตั้งเป้าหมายปีการศึกษา 2568 เป็นปีแห่งการอ่านออกเขียนได้ 100 เปอร์เซ็นต์

วันที่ 13 พฤษภาคม 2568 นายยศภัค จรัสศุภชยา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 3 (ผอ.สพป.พิษณุโลก เขต 3) เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “การพัฒนาทักษะการอ่านออก เขียนได้ และคิดคำนวณเป็นสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3” ที่ใช้ภาษาถิ่นในชีวิตประจำวัน (ภาษาชาติพันธุ์) และโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายในสังกัด โดยมี นางนุชสรา ทองดอนคำ รอง ผอ.สพป.พิษณุโลก เขต 3 คณะผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ สพป.พิษณุโลก เขต 3 และผู้เข้ารับการอบรมเป็นครูผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษาโรงเรียนในสังกัดฯ เข้าร่วมในพิธีเปิด จำนวนกว่า 100 คน ณ ห้องประชุมมังคละ ชั้น 3 สพป.พิษณุโลก เขต 3

นายยศภัค กล่าวว่า การดำเนินการจัดการอบรมฯ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังให้ครูผู้สอนในระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้นเห็นความสำคัญ มีความตระหนัก และรับผิดชอบในการเร่งรัดให้นักเรียนอ่านออก เขียนได้ และคิดคำนวณเป็น อย่างยั่งยืน เพื่อส่งเสริมให้ครูผู้สอนมีทักษะ วิธีแก้ปัญหา และวางแผนการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับปัญหา และความต้องการของนักเรียน และเพื่อสนับสนุนให้ครูผู้สอนนำสื่อเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้จัดกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะการอ่าน การเขียน และการคิดคำนวณสำหรับนักเรียนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในยุคปัจจุบัน

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ประกาศนโยบายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยให้ความสำคัญในด้านการส่งเสริมการอ่านเพื่อเป็นวิถีในการค้นหาความรู้และต่อยอด องค์ความรู้ที่สูงขึ้น ได้แก่ การส่งเสริมการอ่านเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการพัฒนาความสามารถ ด้านการอ่านตามแนวทางการประเมิน PISA ซึ่งสอดคล้องกับจุดเน้นของ สพป.พิษณุโลก เขต 3 กำหนดให้นักเรียนทุกคนต้อง “อ่านออก เขียนได้ และคิดเลขเป็น” และได้เน้นย้ำนโยบายของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ ฉลาดรู้ (รู้ในสิ่งที่ควรรู้ และแสวงหาความรู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้) ฉลาดคิด (รู้แล้วต้องรู้จักคิด คิดถึงเหตุและผล) ฉลาดทำ (ทำในสิ่งที่ควรทำ เป็นประโยชน์ ไม่ทำสิ่งที่เป็นโทษ) โดย สพป.พิษณุโลก เขต 3 ตั้งเป้าหมายในปีการศึกษา 2568 เป็นปีแห่งการอ่านออกเขียนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนโรงเรียนในสังกัดฯ นายยศภัค กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับการอบรมฯ ในครั้งนี้ มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง แผนงาน/มาตรการขับเคลื่อนโยบายส่วนกลางสู่การปฏิบัติจริงในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับโรงเรียน และระดับห้องเรียน โดย นางณัฐพร ห่วงเฟื่อง ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ การบรรยายพิเศษ เรื่อง สอนอย่างไรให้นักเรียนอ่านออก เขียนได้ โดย นางอมรรัตน์ แสงนาค ก.ต.ป.น.เขตพื้นที่การศึกษา การบรรยายพิเศษ เรื่อง การนำนวัตกรรม/ สื่อเทคโนโลยี /เทคนิค scaffolding ของสภากาชาดไทย ไปใช้ประกอบการจัดกระบวนการเรียนรู้พัฒนาทักษะการอ่าน การเขียน โดย นางบุญส่ง ศิริมงคล ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ การบรรยายพิเศษ เรื่อง การพัฒนาทักษะการคิดเลขเป็นสำหรับนักเรียน โดย นางสาวประภาพร ศิริสกุลวัฒนาพร ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษและคณะ การบรรยายพิเศษ เรื่อง การประเมินคุณภาพนักเรียน ด้านการอ่าน การเขียน และคิดคำนวณ นำผลไปใช้เพื่อการพัฒนาการ โดย นางสาวสุภาพร แสนแทน ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ โดยแบ่งผู้เข้ารับการอบรมออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ครูผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้นของโรงเรียนที่นักเรียนใช้ภาษาถิ่นในชีวิต ประจำวัน (ภาษาชาติพันธุ์) ทุกคน จำนวน 7 โรงเรียน กลุ่มที่ 2 ตัวแทนครูผู้สอนในระดับประถมศึกษาตอนต้นของโรงเรียนพื้นที่สูงหรืออยู่ในถิ่นทุรกันดารในสังกัด โรงเรียนละ 1 คน จำนวน 18 โรงเรียน และกลุ่มที่ 3 ตัวแทนครูผู้สอนในระดับประถมศึกษาตอนต้นของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาทักษะการพูด อ่าน เขียนภาษาไทยของจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 4 โรงเรียน และโรงเรียนเครือข่ายแควน้อยบำรุงแดน จำนวน 9 โรงเรียน