สธ. ส่งทีมแพทย์ชุดแรก ดูแลสุขภาพพี่น้องชาวไทยมุสลิมกว่า 6 พันคน ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

กระทรวงสาธารณสุข จัดทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ 2 ทีม รวม 27 คน ดูแลสุขภาพชาวไทยมุสลิมกว่า 6 พันคน ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ประจำปี 2568 ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย โดยชุดแรกออกเดินทางวันนี้ เผย มีการเตรียมพร้อมสุขภาพผู้แสวงบุญทั้งก่อนเดินทาง ระหว่างประกอบพิธี และติดตามดูแล หลังกลับถึงไทยอีก 14-30 วัน

วันที่ 28 เมษายน 2567 เวลา 07.00 น. ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ นายแพทย์ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจาก นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มาให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ที่จะเดินทางไปดูแลสุขภาพชาวไทยมุสลิมที่ไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ประจำปี 2568 ซึ่งในปีนี้มีชาวไทยมุสลิมเดินทางไปประกอบพิธีจำนวน 6,603 คน ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 2 มิถุนายน 2568 และเดินทางกลับช่วงวันที่ 12 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม 2568 โดยก่อนการเดินทาง กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมให้กับผู้แสวงบุญทุกคน ทั้งคัดกรองความเสี่ยง ให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ รวมถึงฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นและโรคไข้หวัดใหญ่

นายแพทย์ศักดา กล่าวต่อว่า สำหรับในช่วงประกอบพิธีฮัจย์ ได้จัดทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ให้การดูแลสุขภาพ ประกอบด้วย แพทย์ 7 คน เภสัชกร 3 คน พยาบาล 15 คน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 2 คน รวม 27 คน แบ่งการเดินทางออกเป็น 2 ชุด โดยชุดแรกที่ออกเดินทางวันนี้จำนวน 15 คน มี นายแพทย์ซุลกิฟลี ยูโซะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าสำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 28 เมษายน 2568 – 23 มิถุนายน 2568 ส่วนชุดที่ 2 ประกอบด้วย แพทย์ 3 คน เภสัชกร 2 คน พยาบาล 6 คน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 1 คน รวม 12 คน มี นายแพทย์ถนัด อาวารุลหัก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษาสำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม – 8 กรกฎาคม 2568

“นอกจากทีมแพทย์จะให้บริการที่สำนักงานแพทย์ 2 แห่ง คือ นครเมกกะ และเมืองมะดีนะห์ ยังมีทีมปฏิบัติงานภาคสนามให้บริการดูแลสุขภาพ ติดตามเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง ที่ทุ่งอาราฟะห์และมุสดาลีฟะห์ด้วย และหลังจากผู้แสวงบุญเดินทางกลับถึงประเทศไทย หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่จะมีการติดตามเฝ้าระวังสุขภาพ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS-CoV) และโรคติดเชื้ออื่นๆ เป็นเวลา 14-30 วัน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้แสวงบุญทุกคนจะมีความปลอดภัย” นายแพทย์ศักดากล่าว