รมว.ยุติธรรม และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่ตำบลเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ในโครงการติดตามผลการดำเนินงานและสร้างการรับรู้การป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดสกลนคร 

ในวันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน 2568 เวลา 10.00 น. พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่ตำบลเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ในโครงการติดตามผลการดำเนินงานและสร้างการรับรู้การป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดสกลนคร โดยมี นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นายยู่สิน จินตภากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นางธารินี แสงสว่าง ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมคุมประพฤติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมฯ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้รับฟังสรุปผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดสกลนครเพื่อให้ทำให้ประชาชนมีความสุข ตามต้นแบบ “สกลนครโมเดล” โดยมี นายพิสิษฐ์ แร่ทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นผู้กล่าวรายงานสรุปผลการดำเนินงาน และรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และการแก้ไขปัญหายาเสพติด และการขยายผลพื้นที่ต้นแบบ จาก “ธวัชบุรีโมเดล” สู่ “สกลนครโมเดล” ที่นำมาขับเคลื่อนในพื้นที่ไข่แดง ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โดยมี นางสาวจิราภรณ์ เบิกบานดี นายอำเภอเมืองสกลนคร ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด อำเภอเมืองสกลนคร เป็นผู้กล่าวรายงาน

จากนั้นได้รับฟังเวทีเสวนาในประเด็นการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดสกลนคร การเชื่อมโยงการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือด้านพฤตินิสัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และกระบวนการแก้ไขผู้เสพยาเสพติดในกระบวนการยุติธรรม “รัตนบุรีโมเดล” โดย นางยศวันต์ บริบูรณ์ธนา รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ นายคณิศร ภาพีรนนท์ ผอ.ปปส. ภาค 4 นายณรงค์พงศ์ พิศิลป์ ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดสกลนคร นายเนฤมิตร ธรรมสละ ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสกลนคร และนายอภิชาต ตีรสวัสดิชัย สส.เขต 1 จังหวัดสกลนคร โดยมี นางสาวสายฝน จันทะพรม ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดสกลนคร เป็นผู้ดำเนินรายการ รวมทั้งการบรรยายในหัวข้อการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในกระบวนการยุติธรรม โดยอาจารย์มนศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ตลอดจนรับฟังการแสดงความคิดเห็นจากภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ในการแลกเปลี่ยนปัญหาและข้อเสนอแนะในพื้นที่

โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันปัญหายาเสพติดถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสังคมไทย ซึ่งจากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า จังหวัดสกลนครเป็นจังหวัดที่มีปัญหายาเสพติดเป็นอันดับต้นของประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ซึ่งปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน วันนี้เราจึงมีหน้าที่ที่จะมาร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติด ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาให้ลดน้อยลงและหมดไป นอกจากนี้ ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด องค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ จำเป็นมีต้องพัฒนาและเปลี่ยนเรือนจำให้เป็นสถานที่ฟื้นฟูและเป็นสถานที่พัฒนาคนให้เป็นผู้มีการศึกษา อ่านออกเขียนได้ เรือนจำต้องเป็นสถานที่ตัดวงจรอาชญากรรมและเป็นสถานที่ปลอดภัยให้กับประชาชน ทั้งนี้ ปัญหายาเสพติดถือเป็นผลกระทบใหญ่ของปัญหาความมั่นคง ดังนั้น การแก้ไขปัญหายาเสพติดจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากครอบครัวและชุมชน ฝากทุกครอบครัวให้ช่วยกันดูแลบุตรหลาน โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาขั้นพื้นฐานและการส่งเสริมการมีอาชีพ โดยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชุมชน เมื่อชุมชนเข้มแข็ง ปัญหายาเสพติดก็จะลดน้อยลง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนในพื้นที่จะต้องช่วยกันผนึกเป็นพลังในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด จึงจะหยุดยั้งปัญหาได้

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เยี่ยมชมบูธนิทรรศการของหน่วยงานและภาคประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งรับชมการแสดงจากผู้ก้าวพลาดของเรือนจำสกลนคร และได้พบปะและให้กำลังใจแก่ผู้ก้าวพลาดและครอบครัว

สำหรับการขับเคลื่อนการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดในภาพรวมของจังหวัดสกลนคร โดยจังหวัดสกลนครเป็น 1 ใน 12 จังหวัด ที่นายกรัฐมนตรีได้กำหนดให้เป็นพื้นที่เป้าหมายในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามแนวทาง “ธวัชบุรีโมเดล” นำมาสู่การขับเคลื่อนการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด ภายใต้โครงการ “ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อให้ประชาชนมีความสุข” (สกลนครโมเดล) โดยจังหวัดสกลนครได้เริ่มดำเนินการ Kick Off โครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน ในการดำเนินการจังหวัดสกลนครได้กำหนดเป้าหมาย Re X-ray เต็มพื้นที่ 18 อำเภอ ให้ได้ 100 % โดยได้กำหนดเป้าหมาย Re X-ray ประชากร ช่วงอายุ 12-65 ปี ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่จริง 484,716 คน โดยแบ่งพื้นที่ดำเนินการออกเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ไข่แดง ไข่ขาว และกระทะ

ในส่วนของผลการ Re X-ray เป้าหมาย 484,716 คน ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมจำนวน 491,823 คน คิดเป็นร้อยละ 101.47 พบผู้มีสารเสพติด รวมจำนวน 10,221 คน คิดเป็นร้อยละ 2.08 ของจำนวนผู้คัดกรอง ซึ่งผลการคัดกรอง Re X-ray สามารถดำเนินการได้เกินกว่า 100 % เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ด้วยการบูรณาการ ระดมสรรพกำลัง บุคลากร ภาคีเครือข่าย อาสาสมัครของทั้งภาครัฐ และภาคประชาชน โดยประชาชนและผู้นำชุมชนในทุกพื้นที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และเข้ามาเป็นส่วนร่วมหนึ่งในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในแต่ละด้านของแต่ละพื้นที่ อาทิ ด้านการป้องกัน มีการตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด การเดินเวรยาม รักษาความสงบเรียบร้อย โดยชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านของแต่ละหมู่บ้าน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้การดำเนินการกับผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด อยู่ในกระบวนการนำผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติด โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน CBTx และมินิธัญรักษ์ เพื่อส่งต่อไปยังศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ช่วยให้มีชีวิตที่ดีขึ้นสามารถกลับคืนสู่สังคมและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านชุมชนได้ต่อไป