สธ. ห่วงชาวใต้ รุดดูพื้นที่ ระดมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ดูแลปัญหา PM2.5

กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 แนะก่อนออกจากบ้านควรติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศทางเฟซบุ๊กเพจ “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM2.5” ของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมประเมินตนเองและหลีกเลี่ยงสัมผัสฝุ่นละอองโดยสวมใส่หน้ากากป้องกันเมื่อออกจากบ้านทุกครั้ง

วันที่ 20 กันยายน 2562 นายธนิตพล  ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์หมอกควันในจังหวัดสงขลา ว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ดร.สาธิต ปิตุเตชะ) มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในภาคใต้ตอนล่าง ในหลายพื้นที่ที่ยังคงมีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงปฏิบัติตามคำแนะนำในการป้องกันตนเองที่ถูกต้อง ด้วยการตรวจเช็คคุณภาพอากาศ PM2.5 ได้จากเฟซบุ๊กเพจ “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM2.5” ของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้สังเกตที่สีเป็นหลัก หากเป็นสีส้มและสีแดง ซึ่งเป็นค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานและมีผลกระทบต่อสุขภาพควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และควรประเมินตนเองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ อาทิ มีอาชีพอยู่กลางแจ้ง ต้องสัมผัสฝุ่นเป็นเวลานาน หรืออาศัยในพื้นที่เสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด หากพบว่าเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นปิดประตูหน้าต่างให้สนิท งดกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน แต่ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงฝุ่นสูงให้สวมหน้ากาก N95 หรือหน้ากากอนามัย แต่ต้องใส่ให้ถูกวิธีด้วย และที่สำคัญไม่ควรสวมใส่หน้ากากอนามัย N95 ในขณะที่ออกกำลังกายอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ร่างกายต้องหายใจแรงเร็วขึ้น ส่งผลให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานหนักมากขึ้นและอาจเป็นอันตรายได้

ทางด้าน แพทย์หญิงพรรณพิมล  วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเสริมว่า หากพบอาการผิดปกติจาก ฝุ่นละออง หายใจติดขัด แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ ควรต้องพบแพทย์ทันที ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวให้พกยาติดตัวตลอดเวลา ซึ่งประชาชนต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว และพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว สำหรับประชาชนที่นิยมออกกำลังกายในที่โล่งแจ้งในช่วงที่มี ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน การเล่นฟุตบอล ควรติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างสม่ำเสมอ ปรับช่วงเวลาในการออกกำลังกาย หากอยู่ในระดับสีส้มและสีแดงให้งดการออกกำลังกายกลางแจ้ง เปลี่ยนมาเป็นออกกำลังกายในอาคารแทน เพราะการออกกำลังกายกลางแจ้งจะส่งผลให้อัตราการหายใจ เพิ่มมากขึ้น โอกาสที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จะแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอด และ ผ่านเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ได้มากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย หลอดเลือดในสมองตีบ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมไปถึงการกำเริบของโรคหัวใจและโรคหอบหืดด้วย

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 20 กันยายน 2562