สธ.ห่วง ปัญหาคนไทยฆ่าตัวตาย แนะหลัก 3 ส.ช่วยเหลือผู้ที่มีความเสี่ยง

วันที่ 19 ก.ย. 62 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของ แม่ชาว จ.ลพบุรี และ ลูกสาววัย 11 ขวบ ที่ใช้วิธีรมควันในรถยนต์ คาดว่ามีอาการเครียดจนส่งผลให้ใช้วิธีนี้ฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหาหนี้สินว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายในไทย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ถือเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องนี้ โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับปัญหาฆ่าตัวตาย หมั่นสังเกตคนรอบข้าง และเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือให้ถูกต้องการหลักของกรมสุขภาพจิต

สำหรับวิธีป้องกันการฆ่าตัวตาย แนะนำให้บุคคลรอบข้าง ครอบครัว หรือคนใกล้ชิดสังเกตสัญญาณเตือน ใช้หลักวิธีการปฐมพยาบาลทางจิตใจ 3 ส. คือ

1.สอดส่อง มองหา ผู้ที่มีความคิดทำร้ายตัวเอง หรือผู้ที่มีการส่งสัญญาณเตือนในการฆ่าตัวตาย เช่น พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม แยกตนเองออกจากสังคม

2.ใส่ใจรับฟัง ด้วยความเข้าใจ ชวนพูดคุย ให้ระบายความรู้สึก ไม่ตำหนิหรือวิจารณ์ โดยการรับฟังอย่างใส่ใจนั้นเป็นวิธีการสำคัญที่มีประสิทธิภาพมาก

3.ส่งต่อเชื่อมโยง เช่น การแนะนำให้ โทร.ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

จากสถิติจากกรมสุขภาพจิต ระบุ สถานการณ์ล่าสุดในประเทศไทย พบว่า ในแต่ละปีจะมีคนพยายามฆ่าตัวตายปีละ 53,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน โดยจะมีคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ประมาณ 4,000 คน ในปี 2561 อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.11 เพิ่มขึ้นจากอัตรา 6.03 ในปี 2560 โดยเพศชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าเพศหญิงกว่า 4 เท่า ช่วงอายุที่มีจำนวนการฆ่าตัวตายสูงสุดของ เพศชายอยู่ที่ 35-39 ปี ส่วนเพศหญิงจำนวนการฆ่าตัวตายสูงสุดอยู่ที่ช่วงอายุ 50-54 ปี