กอปภ.ก. ประสานศูนย์ ปภ.เขต และจังหวัดเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรงในช่วงวันที่ 19 – 23 ก.ย. 62

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานหน่วยปฏิบัติในพื้นที่เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 19 – 23 กันยายน 2562 โดยให้ศูนย์ ปภ.เขต ในพื้นที่ร่วมกับจังหวัดติดตามข้อมูลปริมาณน้ำ การระบายน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัยและเครื่องมืออุปกรณ์เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที รวมถึงประชาสัมพันธ์แนวโน้มสถานการณ์ภัยแก่ประชาชนผ่านทุกช่องทางการสื่อสาร อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามสถานการณ์น้ำและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศกัมพูชา ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางมีฝนตกเพิ่มขึ้นและฝนหนักบางพื้นที่ ประกอบกับในช่วงวันที่ 22 – 23 กันยายน 2562 ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้ตอนบน ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 19 – 23 กันยายน 2562 อีกทั้งคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบน และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยแยกเป็น พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ประกอบด้วย ภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ตราด ภาคกลาง ได้แก่เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร ระนอง พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง ประกอบด้วย ภาคกลาง ได้แก่ ระยอง จันทบุรี ภาคใต้ ได้แก่ ระนอง พังงา และภูเก็ต ซึ่ง กอปภ.ก. ได้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวเตรียมพร้อมป้องกันและรับมือสถานการณ์ภัย โดยกำชับให้ดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ควบคู่กับการจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที นอกจากนี้ ประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเล โดยเฉพาะการห้ามเดินเรือขนาดเล็ก รวมถึงให้ผู้ควบคุมเรือตรวจสอบความพร้อมของตัวเรือ เครื่องยนต์ จัดเตรียมเครื่องมือประจำเรือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมใช้งาน อีกทั้งกำชับสถานประกอบการในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวห้ามประกอบกิจกรรมทางทะเลทุกประเภทในช่วงที่มีคลื่นลมแรง ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป