ปส. ร่วม EC เสริมสมรรถนะไทย-อาเซียน หนุนตั้งระบบสนับสนุนการตัดสินใจเหตุฉุกเฉินนิวเคลียร์-รังสีแห่งแรกในอาเซียน

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) ร่วมกับคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission : EC) เสริมสมรรถนะเพิ่มศักยภาพบุคลากรไทยและอาเซียน เรียนรู้การพยากรณ์การแพร่กระจายของนิวไคลด์กัมมันตรังสี ในวันที่ 16 27 กันยายน 2562 ณ ปส. ภายใต้โครงการความร่วมมือ EC-ASEAN Regional Project on Enhancing Emergency Preparedness and Response (EP&R) in ASEAN: Technical Support for Decision Making (DSS)

วันที่ 16 กันยายน 2562 นางรัชดา เหมปฐวี รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า ปส.ในฐานะประธานเครือข่ายหน่วยงานกํากับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานปรมาณูในภูมิภาคอาเซียน ประจำปี พ.ศ. 2562 พร้อมรับเป็นเจ้าภาพจัดตั้งหน่วยงานกลางของภูมิภาคอาเซียนในการติดตั้งระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System: DSS) กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี เพื่อพยากรณ์การแพร่กระจายของนิวไคลด์กัมมันตรังสีกรณีอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์และรังสี โดยการสนับสนุนจาก EC พร้อมติวเข้มทางเทคนิค ตั้งแต่วันที่ 16 – 27 กันยายน 2562 ณ ปส. เพื่อเสริมสมรรถนะและเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมติดตั้งระบบ DSS แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่จำเป็นแก่บุคลากรไทยและอาเซียน จำนวนกว่า 30 คน
จาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีรายละเอียดกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่

  1. ฝึกอบรม Training Course on Models Used in Decision Support System ตั้งแต่วันที่ 16 – 20 กันยายน 2562 เพื่อเรียนรู้การใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการพยากรณ์การแพร่กระจายของนิวไคลด์กัมมันตรังสีกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการยุโรป
  2. ฝึกอบรมแบบคู่ขนานเกี่ยวกับการใช้งานโปรแกรม ARGOS และโปรแกรม JRODOS ตั้งแต่วันที่ 23 – 25 กันยายน 2562 เพื่อฝึกอบรมเฉพาะด้านสำหรับโปรแกรมที่ประเทศอาเซียนแต่ละประเทศเลือกใช้ในการพยากรณ์ การแพร่กระจายของนิวไคลด์กัมมันตรังสีกรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี
  3. ประชุม Technical Meeting on Status of the Data Collection for Customisation and Data Upload in the DSS ตั้งแต่วันที่ 26 – 27 กันยายน 2562 เพื่อการเก็บข้อมูลและใช้ข้อมูลที่เหมาะสมในการใช้งานระบบ DSS ในประเทศอาเซียน

นางรัชดา กล่าวต่อไปว่า การจัดตั้งและดำเนินงานเกี่ยวกับศูนย์วิเคราะห์ข้อมูล DSS สำหรับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้พยากรณ์การแพร่กระจายของนิวไคลด์กัมมันตรังสีกรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีของประเทศสมาชิกอาเซียนในครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเฝ้าระวังการเกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์และรังสี ตลอดจนการประเมินและวิเคราะห์การแพร่กระจายของนิวไคลด์กัมมันตรังสีและการประเมินการได้รับปริมาณรังสีของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งถือเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานในการรับมือต่อเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีของประเทศ และในระดับภูมิภาคอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักมาตรฐานสากล เพื่อความปลอดภัยต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างมั่นคงและยั่งยืน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มความร่วมมือและประสานงานระหว่างประเทศ โทร 0 2596 7600 ต่อ 4104

โดย กลุ่มส่งเสริมฝึกอบรมและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์