สอศ.นำผู้บริหารสถานศึกษาร่วมยกระดับพัฒนาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี จัดเต็ม 5 ภาค 

ดร.ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานพิธีเปิด การประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการในการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ภาคเหนือ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการส่งเสริมการนิเทศติดตามผลการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ส่งเสริมการจัดกิจกรรมแนะแนว เพื่อเพิ่มปริมาณผู้เรียนและสถานประกอบการที่ร่วมจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี และพัฒนาศักยภาพผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี โดยมีผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ จำนวน 152 คน จาก 87 สถานศึกษาอาชีวศึกษาภาคเหนือ เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมเมย์ฟลาวเวอร์แกรนด์ จังหวัดพิษณุโลก

การประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการในการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ตามยุทธศาสตร์ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดขึ้น 5 ภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร และภาคเหนือ ซึ่งภาคเหนือจัดขึ้นที่จังหวัดพิษณุโลก ถือว่าเป็นแนวทางการพัฒนาศักยภาพที่ถูกต้องตามนโยบายด้านการสนับสนุนขยายโอกาสการเรียนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี การฝึกอบรมอาชีพ การฝึกอาชีพในสถานประกอบการ ตลอดจนมุ่งผลิตพัฒนากำลังคน ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานและสร้างค่านิยมที่ดีต่อการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ทั้งนี้ สถานศึกษาอาชีวศึกษาหรือสถาบันนั้น ต้องมุ่งเน้นการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีเป็นสำคัญ เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือของผู้เรียนให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการได้อย่างแท้จริง ซึ่งการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี เป็นกลยุทธ์ที่ร่วมมือกันทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ ร่วมพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพและสมรรถนะที่สอดคล้องตรงต่อความต้องการของสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน

ทั้งนี้ สอศ. ได้นำนโยบายสู่การปฏิบัติให้บังเกิดผลสำเร็จซึ่งมีความสำคัญมาก โดยยึดหลักการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพของสถานศึกษาและการประสานความร่วมมือกับชุมชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาเป็นพลังร่วมในการขับเคลื่อน ตามแนวพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามหลักการของเศรษฐกิจพอเพียง การเข้าใจเข้าถึงและพัฒนามาเป็นกลยุทธ์ในการทำงาน เร่งดำเนินงานให้บังเกิดผลสำเร็จให้ทุกชีวิตรอบตัวอยู่ดี มีความสุข โดยน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน ดังนี้ มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง-มีคุณธรรม มีงานทำมีอาชีพ และเป็นพลเมืองที่ดี และพระราชดำรัส ในการเชิญชวนให้ประชาชนชาวไทยทุกคน ที่จะร่วมกันปฏิบัติงานตามฐานะและหน้าที่ของตน โดยยึดเอาประโยชน์คือความเจริญมั่นคงของประเทศชาติและความผาสุกร่มเย็นของประชาชนเป็นเป้าหมายสูงสุด ดร.ประชาคม กล่าวปิดท้าย