ชป.เร่งผลักน้ำออกโขงวันละ 500 ล้าน ลบ.ม. ลั่นสิ้นเดือน ก.ย. น้ำจะเริ่มแห้ง

แนวโน้มน้ำท่วมเมืองอุบลฯ ลดลง 1 เซนติเมตร ในเวลา 2 ชั่วโมง กรมชลประทานระดมเครื่องผลักดันน้ำร่วมร้อยตัวผลักน้ำออกสู่แม่น้ำโขงให้ได้วันละ 500 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าในสิ้นกันยายนนี้ สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ พร้อมดำเนินการเล็งเก็บน้ำค้างทุ่งได้อีก 500 ล้าน ลบ.ม. สำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เนื่องมาจากอิทธิพลพายุไป๋ลู่ที่พัดผ่านเข้าทางภาคอีสานของประเทศไทยมาตั้งแต่ช่วง 25-29 สิงหาคม หลังจากนั้นพายุโซนร้อนโพดุล และ คาจิกิได้พัดเข้าต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัด อาทิ อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น เป็นต้น โดยมวลน้ำได้ไหลบ่ามาจากแม่น้ำชี และแม่น้ำมูลตอนบนลงมาท่วมเมืองอุบลราชธานี จากการประเมินสถานการณ์พบว่ามวลน้ำสูงสุดที่ไหลมาหนุนสถานีวัดน้ำ M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย จ.อุบลราชธานี ถึงจุดสูงสุดเมื่อวันที่ 13 กันยายน คาดว่ามวลน้ำจำนวนกว่า 2 พันล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) นี้จะทรงตัวอยู่ 2-3 วัน จากนั้นจะลดระดับลง

“ทั้งนี้กรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่สถานีแม่น้ำมูล อ.พิบูลมังสาหาร จำนวน 60 เครื่อง และที่โขงเจียมอีก 100 เครื่อง ทั้งหมดสามารถผลักดันน้ำที่ท่วมในอุบลราชธานีออกสู่แม่น้ำโขงได้วันละกว่า 500 ล้านลบ.ม. ประกอบกับขณะนี้ระดับน้ำโขงอยู่ต่ำกว่าแม่น้ำมูล 1.50 เมตร ทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้ด้วยดี สามารถทำการระบายน้ำได้จำนวนมากในเวลารวดเร็ว น้ำลดระดับลง 1 เซนติเมตรทุก 2 ชั่วโมง พร้อมกับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว ปิดการระบายน้ำ คาดว่าสถานการณ์น้ำของอ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี จะเข้าสู่ภาวะปกติภายในสิ้นเดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้มีการเตรียมการหากเกิดกรณีฝนตกอีก เนื่องจากฤดูฝนของทางพื้นที่จะหมดภายในอีก 1 เดือนข้างหน้า โดยการเตรียมระดมสรรพกำลังทั้งเครื่องจักร เครื่องมือและกำลังคนเพื่อร่วมกันผลักดันน้ำออกลำน้ำสายใหญ่ให้มากที่สุด โดยจัดกำลังเจ้าหน้าที่จากจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาสลับทำหน้าที่เพื่อความต่อเนื่อง” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

สำหรับขั้นตอนการทำงานเพื่อเร่งการระบายน้ำ มีดังนี้ คือ 1.เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ ๆ ถูกน้ำท่วมในทุกมิติ ทั้งการสูบน้ำ ผลักดันน้ำ 2.ประเมินน้ำค้างทุ่งเพื่อเก็บน้ำไว้ที่แก้มลิงและหนองน้ำสาธารณะ และภารกิจก่อนจะเข้าสู่ฤดูแล้ง 3.จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ช่วยซ่อมบำรุงรักษาเครื่องมือหรืออุปกรณ์การเกษตรที่เสียหาย ซ่อมแซมอาคารชลประทาน และเร่งชดเชยค่าเสียหายอันเกิดจากอุทกภัย ซึ่งจะใช้หลักการทำงานเช่นนี้ในพื้นที่ ๆ จะเข้าสู่ฤดูฝนและประสบภัยน้ำท่วมกะทันหันต่อไป

ด้าน นายสมชาย คณาประเสริฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 กล่าวว่า สำหรับแผนหลังจากน้ำลดในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด ได้แก่ อำนาจเจริญ ยโสธร มุกดาหาร นครพนม และ อุบลราชธานี แล้วคือ สูบหรือผันน้ำค้างทุ่งเอาไปเก็บไว้ในแหล่งเก็บน้ำสาธารณะ อีกส่วนหนึ่งจะเก็บไว้ในลำน้ำธรรมชาติ เมื่อระดับน้ำเริ่มลดลงต่ำกว่าตลิ่ง จะเริ่มทำการควบคุมปิดบานของเขื่อนต่าง ๆ ตามลำน้ำชี ตั้งแต่เขื่อนชนบท เขื่อนวังยาว เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร เขื่อนธาตุน้อย
เพื่อกักน้ำไว้ลำน้ำให้ได้มากที่สุด พร้อมกันนี้จะควบคุมอาคารบังคับน้ำที่อยู่ตามแก้มลิง หนองน้ำสาธารณะต่าง ๆ ให้เก็บน้ำไว้ด้วยเช่นกัน คาดการณ์ว่าจะสามารถเก็บน้ำที่ไหลลงมามากกว่า 3 พันล้าน ลบ.ม. ได้จำนวนราว 500 ล้าน ลบ.ม. เพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนในหน้าแล้ง (1 พ.ย. 62 – 30 เม.ย. 63) ให้กับพื้นที่ 5 จังหวัดที่กล่าว

ในส่วนของ นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กล่าวว่า ได้ทำการหน่วงน้ำมูลที่เขื่อนราษีไศล โดยทำการยกบานประตูระบายน้ำให้น้ำผ่านในอัตรา 580 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อช่วยลดน้ำที่จะไหลลงมาเข้าเมืองอุบลราชธานี ได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน

ทั้งนี้ ดร.ทองเปลวฯ ได้สั่งการให้สำนักชลประทาน ที่ 5 – 8 รวมกันบริหารจัดการน้ำ 8 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย ตามแนวลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล โดยให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่ใช้ทุกวิถีทาง เพื่อทำการหน่วงน้ำ และทำการผลักดันน้ำ ให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชน และ ถนน เพื่อให้ประชาชนบางส่วน สามารถกลับเข้าสู่บ้านเรือนได้ภายในวันที่ 20 กันยายนนี้ ส่วนน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำจะใช้้เครื่องสูบน้ำ สูบน้ำออกจากพื้นที่จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายในสิ้นเดือนนี้

***********************************

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

15 กันยายน 2562