เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) ได้รับแจ้งจากเฟสบุ๊คคุณAU Freedom ว่าพบการฟักตัวของไข่เต่าทะเล บริเวณชายหาดกะตะน้อย ต.กะรน อ.เมืองจ.ภูเก็ต และได้ทำการช่วยเหลือปล่อยลูกเต่ากลับคืนสู่ทะเลได้ประมาณ70กว่าตัว แต่ยังมีที่หลงเหลืออยู่ในรังอีกจำนวนหนึ่ง และมีชาวบ้านในพื้นที่หาดกะตะน้อยทำแนวเขตกั้นล้อมรอบหลุมไข่เต่าเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ โดยเจ้าหน้าที่กรมทะเลฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ จากการตรวจสอบภายในหลุมพบเต่าที่ฟักเป็นเต่าหญ้า(Lepidochelys olivacea) โดยมีเต่าตายแรกฟักจำนวน 13 ตัว ไข่เสีย 9 ฟอง และเต่ามีชีวิต จำนวน 1 ตัว สภาพร่างกายอ่อนแรง มีความผิดปกติของกระดอง สัตวแพทย์ได้นำกลับมาวินิจฉัยโรคเบื้องต้น และสังเกตอาการ ณ ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน เพื่อดูแลอนุบาลรักษาฟื้นฟูสุขภาพก่อนจะปล่อยกลับสู่ธรรมชาติต่อไป
ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องที่น่ายินดีนี้ ต้องขอขอบคุณผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่หาดกะตะน้อย ที่พบเห็นการฟักตัวของเต่าหญ้า แล้วรีบทำการช่วยเหลือทันที พร้อมได้ประสานแจ้งเจ้าหน้าที่ ให้ดำเนินการตรวจสอบ จึงอยากฝากพี่น้องประชาชนทุกคนร่วมด้วยช่วยกันดูแลทะเล ชายหาด และชายฝั่งของไทย อันเป็นบ้านของสัตว์ทะเลเหล่านี้ ไม่ให้สูญพันธุ์ไป
สำหรับเต่าหญ้า หรือเต่าสังกะสี หรือเต่าหญ้าแปซิฟิก เป็นเต่าทะเลชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lepidochelys olivacea เป็นเต่าทะเลขนาดเล็ก มีความยาวเต็มที่ประมาณ 60 -70 เซนติเมตร น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 30-40 กิโลกรัม กระดองมีสีเขียวมะกอกหรือสีน้ำตาล เกล็ดบนกระดองมีลักษณะซ้อนกันเหมือนสังกะสีมุงหลังคา อันเป็นที่มาของอีกชื่อเรียกหนึ่ง ส่วนท้องมีสีเหลืองออกขาว หัวค่อนข้างโต ดวงตาปูดโปนออกมา กระดองมีความแข็งมาก ริมฝีปากสั้นทู่และคมแข็งแรงมากเพื่อใช้สำหรับขบกัดกินสัตว์มีกระดองซึ่งเป็นอาหารหลัก ส่วนของกระดองและท้องเชื่อมต่อกัน เป็นเต่าทะเลที่ว่ายน้ำได้เร็วมาก โดยอาจว่ายได้ถึง 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในน่านน้ำไทยจะพบได้ในฝั่งทะเลอันดามัน ส่วนในทะเลอ่าวไทยจะพบได้น้อยกว่า จัดเป็นเต่าทะเลอีกชนิดหนึ่งที่พบได้น้อยมากในน่านน้ำไทย