บูรณาการจับกุมเรือ IUU ในน่านน้ำไทย

กองทัพเรือ กรมประมง และกรมเจ้าท่า ได้ร่วมกันจับกุมเรือชื่อ UTHAIWAN   สัญชาติแคมมารูน  ตามที่แสดงในระบบรายงานตนอัตโนมัติ (AIS – Automatic identification System) โดยเรือดังกล่าวเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ ขนาด 3000 ตันกรอส  ถูกจับกุมในเขตน่านน้ำไทย บริเวณชายฝั่งจังหวัดพังงา  การบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างกรมประมง กรมเจ้าท่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองทัพเรือ  ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 และ พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกว่ากรมประมงได้รับประสานของเรือลำดังกล่าวจากเครือข่ายองค์กรในระดับสากลที่ทำหน้าที่ในการติดตาม เฝ้าระวัง การทำการประมงผิดกฎหมายในประเทศอังกฤษ (OceanMind) เนื่องจากคาดว่าเป็นเรือที่ถูก IOTC  ประกาศว่าเป็น เรือ IUU ชื่อ Wisdom Sea Reefer สัญชาติ Honduras  กรมประมงได้สั่งการให้ ศูนย์ติดตามและเฝ้าระวังการทำประมง หรือ ศูนย์ FMC” ดำเนินการติดตามเรือลำดังกล่าวทางระบบ AIS ตั้งแต่เรือออกจากท่าที่ประเทศกัมพูชาในวันที่ 2 กันยายน 2562  : โดยเรือลำดังกล่าวได้เดินทางผ่านช่องแคบมะละกา และเขตเศรษฐกิจจำเพาะเของมาเลเชีย และเข้ามาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย และในวันที่ 12 กันยายน 2562 เรือลำดังกล่าวได้แล่นเข้ามาในเขตราชอาณาจักรของไทยโดยไม่มีการแจ้งกรมเจ้าท่า และต่อมาเรือลำดังกล่าวได้ปิดระบบ AIS ทำให้ศูนย์ FMC ไม่สามารถติดตามเป้าหมายได้

ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. วันที่ 13 กันยายน 2562 เรือลำดังกล่าวได้เปิดระบบ AIS ทำให้ ศูนย์ FMC และ OceanMind ที่ติดตามเฝ้าระวังอยู่สามารถติดตามเป้าหมายได้ ศูนย์ FMC ได้ประสานงาน กองทัพเรือ โดย ศร.ชล. ภาค 3 และกรมเจ้าท่า เพื่อดำเนินการออกทำการจับกุมและควบคุมเรือดังกล่าว โดย ศร.ชลภาค 3 ได้สั่งการให้เรือ หลวงศรีราชา และ เรือ ต.113 ออกปฏิบัติการ  และศูนย์ FMC ได้ประสานงานเรือเร็วของภาคประชาชนในจังหวัดภูเก็ต เพื่อนำชุดสหวิชาชีพจาก ศูนย์แจ้งเข้าแจ้งออกเรือประมง จังหวัดภูเก็ต ออก)ฎิบัติการ  โดยทางศูนย์ FMC ทำหน้าที่อำนวยการติดตามเป้าหมาย

และเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2562  เวลา 01.30 น.  ชุดสหวิชาชีพร่วมกับชุดตรวจค้นจากเรือ ต.113 ได้ขึ้นทำการตรวจสอบเรือลำดังกล่าว จากการตรวจสอบเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นเรือ IUU ซึ่งมีลูกเรือจำนวน 8 คน เป็นชาวไทยทั้งหมด จึงได้แจ้งข้อกล่าวหามีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 และ พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 94 ห้ามมิให้ผู้ใดนำเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย ที่มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักร และควบคุมเรือลำดังกล่าวเดินทางกลับมายังท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยพล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ประธานอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ศปมผ. จะนำทีมในการสอบสวนเอง

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวท้ายที่สุดว่าการปฏิบัติการเป็นการบูรณาการร่วมมือกันอย่างแท้จริง ทั้งจาก OceanMind  กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง และที่สำคัญที่สุดคือ “ภาคประชาชน” จังหวัดภูเก็ตที่อนุญาตให้ใช้ เรือธัญวิสิทธิ์ 5” และพร้อมออกปฏิบัติการได้ภายในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงหลังจากที่ ศูนย์ FMC ประสานไป  ซึ่งภาระกิจครั้งนี้หากขาดภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งแล้วคงไม่สามารถจะประสบผลสำเร็จได้ด้วยดี  เหตุการณ์ครั้งนี้คงเป็นเครื่องพิสูจน์ขีดความสามารถ ความมุ่งมั่น ตั้งใจของประเทศไทยในการต่อต้านการทำการประมงผิดกฎหมาย เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำและความมั่นคงทางอาหารของโลก ต่อไป

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์    /14 กันยายน 2562