กรมสุขภาพจิต ลงพื้นที่ดูแลจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.อุบลราชธานี แนะประชาชนดูแลจิตใจกันและกัน

กรมสุขภาพจิต มีความห่วงใยประชาชน เนื่องจากสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วม ส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทลงพื้นที่ดูแลจิตใจประชาชนหลังเกิดอุทกภัย ในพื้นที่จ.อุบลราชธานี

วันที่ 13 กันยายน 2562 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตของประชาชนจากการได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วม ว่า กรมสุขภาพจิตมีความห่วงใยประชาชน เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพจิตใจ เกิดสภาวะเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล และมีปัญหาสุขภาพจิตได้นั้น ทางกรมสุขภาพจิต จึงได้ส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ประกอบด้วย ทีมสหวิชาชีพของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 10 ร่วมลงพื้นที่กับทีม MCATT ระดับอำเภอและจังหวัด เพื่อช่วยเหลือดูแลเยียวยาจิตใจประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ โดยได้รับรายงานจากทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทที่ลงพื้นที่จ.อุบลราชธานี พบว่า ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม – 11 กันยายน 2562 จ.อุบลราชธานี มีน้ำล้นตลิ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดน้ำท่วมในทุกอำเภอ ซึ่งมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 25 อำเภอ 170 ตำบล 1,289 หมู่บ้าน 36,607 ครัวเรือน มีศูนย์พักพิง 58 แห่ง และมีผู้อพยพจำนวน 11,595 คน โดยทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทได้เข้าช่วยเหลือดูแลเยียวยาจิตใจประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วยการคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้น ในประเด็นความเครียด ซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตาย ให้ได้รับการดูแลช่วยเหลือตามหลักการปฐมพยาบาลทางใจ (Psychological First Aid : PFA) ทั้งนี้ ผลการคัดกรองในภาพรวมพบว่า มีความเครียดระดับมากขึ้นไป 177 คน เสี่ยงซึมเศร้า 35 คน เสี่ยงฆ่าตัวตาย 4 คน และมีภาวะเครียดภายหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือภาวะพีทีเอสดี (PTSD) 3 คน

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ทางทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทได้ร่วมวางแผนการดำเนินงานกันอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำแผนการ ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และจัดทีมลงพื้นที่ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีทุกวัน ซึ่งทีมที่ลงพื้นที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัย โดยแบ่งเป็นกลุ่มเด็ก จัดให้มีกิจกรรมวาดภาพ และระบายสีคลายเครียด ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่ ได้ให้ความรู้สุขภาพจิต การดูแลสุขภาพใจของตนเองและคนในครอบครัว รวมทั้งได้ให้คำปรึกษา เพื่อให้สามารถปรับตัวก้าวผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ไปได้ ตลอดจนมีการให้ความรู้แก่อาสาสมัครสาธารณสุข เรื่องการปฐมพยาบาลทางด้านจิตใจอีกด้วย ทั้งนี้ จะมีการเยี่ยมติดตามดูแลสภาพจิตใจกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ครอบครัวที่มีผู้เสียชีวิต บ้านที่มีน้ำท่วมมาก ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ มีไร่นาเสียหายเป็นเวลานาน กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่ต้องการยาต่อเนื่อง กลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุที่ไม่มีผู้ดูแล เด็กพิเศษ ผู้พิการ ให้ได้รับการดูแลตามมาตรฐานการเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤติของกรมสุขภาพจิต โดยในรายที่มีความเครียด ซึมเศร้าปานกลางถึงรุนแรง ต้องส่งพบแพทย์ในรพ.ใกล้บ้าน และออกหน่วยติดตามเยี่ยมเยียนอย่างต่อเนื่อง ทุก 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือน หรือจนกว่าจะหมดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต

นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิต ขอแนะนำหลักวิธีการง่ายๆ ให้ประชาชนช่วยดูแลสภาพจิตใจกันและกันของคนในครอบครัว คนรอบข้าง และเพื่อนบ้าน โดยใช้หลัก 3 ส. ในการปฐมพยาบาลทางใจ คือ 1. สอดส่องมองหา (Look) ขอให้ช่วยกันสังเกต มองหาผู้ประสบภัย ที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ผู้ที่มีความโศกเศร้าเสียใจ เครียด วิตกกังวล กินไม่ได้ นอนไม่หลับ 2. ใส่ใจรับฟัง (Listen) ให้เข้าไปพูดคุยให้กำลังใจ พร้อมรับฟังอย่างเข้าใจ เพื่อช่วยให้ผู้ประสบภัยได้พูดระบายคลายความทุกข์ในใจออกมา และ 3. ส่งต่อ (Link) หากอาการยังไม่ดีขึ้น เช่น มีอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรง ให้ติดต่ออาสาสมัครสาธารณสุขภายในหมู่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน โรงพยาบาลจิตเวชในสังกัดกรมสุขภาพจิต เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และสามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว