กรม อ. ร่วมกับ 11 หน่วยงาน ลงนาม MOU แก้ไขปัญหา PM2.5 วาง 5 มาตรการสำคัญในปี’63

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ร่วมกับ 11 หน่วยงาน ดำเนินงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อรักษาคุณภาพอากาศให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยวาง 5 มาตรการสำคัญดำเนินการ ในปี 2563

วันที่ 10 กันยายน 2562 แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลัง ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ณ ห้องประชุมศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช อาคารกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละอองซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงในหลายพื้นที่ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในพื้นที่ 9 จังหวัดทางภาคเหนือ พื้นที่อุตสาหกรรม รวมถึงปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน ซึ่งเกิดขึ้นในภาคใต้ขณะนี้  ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5  ร่วมกัน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ 11 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อรักษาคุณภาพอากาศให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขนั้น กรมอนามัยได้วางมาตรการที่สำคัญในปี 2563 ดังนี้ 1) ขับเคลื่อนและส่งเสริมบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ในการดูแลป้องกันสุขภาพของประชาชนในระดับพื้นที่ 2) สร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนเชิงรุก ให้ทราบถึงระดับความเสี่ยง วิธีการหรือแหล่งข้อมูล PM2.5 และการป้องกันตนเอง ผ่านสื่อโซเซียลมีเดีย สื่อออนไลน์ และสื่อบุคคล 3) เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจากการเจ็บป่วย ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ  4) เตรียมความพร้อมของสถานบริการสาธารณสุข จัดตั้งคลินิกมลพิษ และจัดเตรียมห้องสะอาดให้บริการประชาชนในกลุ่มเสี่ยงสำคัญ และ 5) สนับสนุนการลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ทั้งจากกิจกรรมการเผาและจากสถานประกอบการภายใต้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

“การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ จึงเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่กำหนด ทั้งการลดปริมาณฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ลดการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการรับ หรือสัมผัสฝุ่นละออง ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญทั้งในระดับประเทศและระดับโลกด้วยการจัดการ คุ้มครอง ดูแลสุขภาพประชาชน เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเป็นวาระแห่งชาติ  ให้เกิดการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพพร้อมทั้งผลักดันการดำเนินงานความร่วมมือระหว่างประเทศต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

…………………………………………………………

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 10 กันยายน 2562