‘หม่อมเต่า’ มอบ ‘ที่ปรึกษารัฐมนตรี’ ลงพื้นที่สมุทรปราการ ตรวจการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน แรงงานต่างด้าว กลุ่มบัตรหมดอายุก่อน 31 มีนาคม 2563 หลัง ครม.ไฟเขียว

วันที่ 6 กันยายน 2562 ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน พร้อมด้วย นายสุวรรณ์ ดวงตา รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการต่ออายุใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อติดตามการขอรับใบอนุญาตทำงานและการขออยู่ต่อในราชอาณาจักร ของแรงงานต่างด้าว กลุ่มที่การอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2563

รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน กล่าวว่า การต่ออายุใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ในครั้งนี้ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยได้เปิดต่ออายุใบอนุญาตทำงานและการขออยู่ต่อในราชอาณาจักร ให้กับแรงงานต่างด้าวกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งเมื่อแรงงานต่างด้าวดำเนินการแล้วจะได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 โดยได้เริ่มดำเนินการให้นายจ้างมายื่นความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว บัญชีรายชื่อแรงงานฯ (Name List) ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ในท้องที่ที่คนต่างด้าวทำงานอยู่หรือในท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ของนายจ้าง/สถานประกอบการตั้งอยู่ ไปแล้วตั้งวันที่ 2 กันยายน 2562

สำหรับกลุ่มแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่จะต้องดำเนินการในครั้งนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 261,491 คน แบ่งเป็น กลุ่มพิสูจน์สัญชาติเดิม จำนวน 243,093 คน กลุ่มประมงฯ มาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 จำนวน 12,040 คน กลุ่มจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติ จำนวน 6,358 คน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2-5 กันยายน 2562 มีลูกจ้างมาดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน รวมจำนวนทั้งสิ้น 722 ราย เป็นนายจ้าง จำนวน 218 ราย จังหวัดที่มาดำเนินการมากที่สุด 5 จังหวัด ได้แก่ 1. กรุงเทพมหานคร จำนวน 236 ราย 2. สมุทรปราการ จำนวน 97 ราย 3.ปัตตานี จำนวน 83 ราย 4. ชุมพร จำนวน 79 ราย 5. ระยอง จำนวน 71 ราย และ 6. อื่นๆ จำนวน 156 รายหากจำแนกตามกลุ่มคนต่างด้าวที่มาดำเนินการ พบเป็นกลุ่มพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 519 ราย กลุ่มบัตรชมพู จำนวน 155 ราย และกลุ่ม MOU กรณีพิเศษ จำนวน 48 ราย โดยเป็นสัญชาติเมียนมา มากที่สุดจำนวน 383 ราย รองลงมาคือ กัมพูชา จำนวน 321 ราย และ ลาว จำนวน 18 ราย

ด้านนายสุวรรณ์ ดวงตา รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า นายจ้าง/สถานประกอบการ ต้องตรวจสอบข้อมูลการจ้างแรงงานต่างด้าวที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ เพื่อให้ข้อมูลเป็นปัจจุบัน และหากตรวจไม่พบข้อมูลการอนุญาตทำงานในฐานข้อมูล ขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการประสานกับสำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่เพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป