‘พาณิชย์’ เร่งดันเอฟทีเอสร้างแต้มต่อมันสำปะหลังไทยครองแชมป์โลกอย่างยั่งยืน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยแม้สภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว แต่ไทยยังครองแชมป์ผู้นำการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังสูงสุดในโลก นำหน้าประเทศอื่นหลายเท่าตัว ชี้ระยะยาวตลาดโลกยังต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพิ่มขึ้น เป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการไทยที่จะขยายตลาด พร้อมเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอต่อเนื่อง สร้างแต้มต่อให้สินค้ามันสำปะหลังไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ทำรายได้ให้เกษตรกรชาวไร่ เกิดการจ้างงาน รวมทั้งสร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศมากเป็นอันดับ 4 ของสินค้าเกษตรทั้งหมด (รองจากข้าว ยางพารา และผลไม้) โดยไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่สำคัญ เช่น แป้งมันสำปะหลัง มันสำปะหลังเส้น และสตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งครองแชมป์ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับหนึ่งของโลกต่อเนื่อง (นำสหรัฐฯ และฝรั่งเศส หลายเท่าตัว)

ทั้งนี้ นอกจากไทยจะมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมันสำปะหลังแล้ว ความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ถือว่ามีส่วนช่วยส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ส่งผลให้ไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังมากที่สุดในโลก เนื่องจากช่วยขจัดอุปสรรคภาษีนำเข้าในประเทศคู่ค้า ทำให้ไทยได้แต้มต่อด้านราคา จึงมีโอกาสในการส่งออกและแข่งขันมากขึ้น ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าใน 15 ประเทศคู่ค้าที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง เหลือเพียง 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ที่ยังเก็บภาษีการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังบางรายการจากไทย

นางอรมน เพิ่มเติมว่า ในระยะยาวแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นทั้งพืชอาหาร วัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และเป็นพืชที่ใช้ผลิตพลังงานทดแทน จึงมีตลาดรองรับอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะแป้งมันสำปะหลังแปรรูป ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง และจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารคนและอาหารสัตว์ เครื่องสำอาง และยา เป็นต้น จึงถือเป็นโอกาสของเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย ที่จะขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้น ซึ่งกรมฯ พร้อมสนับสนุนด้วยการเดินหน้าเจรจาการค้า ผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังให้ไทย ภายใต้การเจรจาเอฟทีเอกรอบต่างๆ ทั้งการทบทวนความตกลงกับคู่ค้าที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย และความตกลงเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) การเจรจากับตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา รวมถึงการเจรจาเปิดตลาดกับคู่ค้าใหม่ในอนาคต เช่น สหภาพยุโรป เป็นต้น

นางอรมน เสริมว่า ในปัจจุบันการแข่งขันทางการค้าในตลาดผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทวีความเข้มข้นขึ้น โดยคู่แข่งที่สำคัญของไทยในการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังคือประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกัมพูชาและเวียดนาม ที่เริ่มพัฒนาการผลิตตลอดจนคุณภาพสินค้าเพิ่มขึ้น ดังนั้น นอกจากข้อได้เปรียบจากเอฟทีเอแล้ว ผู้ประกอบการของไทยควรปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยเฉพาะมุ่งเน้นการรักษาคุณภาพควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพและมาตรฐานสินค้าให้เท่าทันกับความต้องการของตลาด เช่น ปรับเปลี่ยนกระบวนการแปรรูป การเก็บรักษา ตลอดจนความสะอาดในการขนส่งให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านสุขอนามัยพืช เป็นต้น

ในปี 2561 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังสู่ตลาดโลก 3,116 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวขึ้น 10% จากปี 2560 มีตลาดส่งออกสำคัญ 3 อันดับแรก คือ จีน (สัดส่วน 57%) อาเซียน (สัดส่วน 16%) และญี่ปุ่น (สัดส่วน 11%)  มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทยไปยังประเทศคู่เจรจา 18 ประเทศ ที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย รวม 2,699 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 87% ของการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยทั้งหมด ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสถิติมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยสู่ตลาดโลกในปี 2561 กับปี  2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลง FTA ฉบับแรกของไทยกับอาเซียนจะมีผลบังคับใช้ พบว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพิ่มขึ้นถึง 166% หากแยกรายตลาด พบว่าจากปีที่ความตกลงเอฟทีเอแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับจนถึงปี 2561 มูลค่าการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด เช่น อาเซียน 1,237 %  จีน 532 % ญี่ปุ่น 134% อินเดีย 102% ออสเตรเลีย 93% เป็นต้น สอดคล้องกับสถิติปี 2561 ที่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกมากอันดับต้น ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-ก.ค.) มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยสู่ตลาดโลกอยู่ที่ 1,688 ล้านเหรียญสหรัฐ

——————————

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  กระทรวงพาณิชย์

5 กันยายน 2562