ชป. เฝ้าระวังเจ้าพระยา บริหารจัดการน้ำลดผลกระทบพื้นที่ตอนล่าง

สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(5 ก.ย. 62) ปริมาณน้ำที่ไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.เมืองนครสวรรค์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย กรมชลประทาน เฝ้าระวังและบริหารจัดการน้ำลดผลกระทบ พื้นที่ตอนล่างอย่างต่อเนื่อง

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังจากที่ได้มีการทยอยเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา พบว่าวันนี้(5 ก.ย. 62) ปริมาณน้ำทางตอนบนที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่าน 1,324 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5.08 เมตร ระดับน้ำยังคงค่อยๆเพิ่มขึ้นจากวานนี้(4 ก.ย. 62) ด้านเขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำไหลเข้าประมาณ 68 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำประมาณ 1 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำไหลเข้าประมาณ 84 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังคงงดการระบายน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึงให้ได้มากที่สุด

ส่วนเขื่อนเจ้าพระยา ในวันนี้ (5 ก.ย. 62) มีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อน 781 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำด้านท้าย เขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่เวลา 15.00 น. ของวานนี้(4 ก.ย. 62) ถึง 15.00 น. วันนี้(5 ก.ย. 62) บริเวณจังหวัดสิงห์บุรี และอ่างทอง เพิ่มขึ้นประมาณ 0.40 เมตร(ยังคงต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 7 เมตร) ส่วนแม่น้ำน้อย อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณบ้านบางหลวงโดด ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 0.27 เมตร และบ้านบางบาล ระดับน้ำลดลง 0.11 เมตร ระดับน้ำยังคงต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 2 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ตอนล่าง โดยการ ทดระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ไหลมาจากจังหวัดนครสวรรค์ เป็นการชะลอน้ำไว้ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมกับ ใช้ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกรับน้ำเข้าไปอย่างเต็มศักยภาพ ปัจจุบันรับน้ำเข้าไปรวมกันวันละ 514 ลบ.ม.ต่อวินาที

สำหรับสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 10,855 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น ร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ 4,159 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23 สามารถรองรับ ปริมาณน้ำได้รวมกันอีกกว่า 14,000 ล้าน ลบ.ม.

การเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อรองรับปริมาณน้ำเหนือยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งกรมชลประทาน จะเฝ้าระวัง ติดตาม และบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพฝน พร้อมรักษาเสถียรภาพของ อ่างเก็บน้ำ และลำน้ำอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันหรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด นอกจากนี้ ให้โครงการชลประทานทุกโครงการในพื้นที่ ประสานกับทางจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ อย่างใกล้ชิด และรับข่าวสารจากทางราชการเท่านั้น

………………………………………………

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน

5 กันยายน 2562