อธิบดี พก. เปิดเผย กรณีการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็น จากเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ ในกิจกรรมเดินทางไกลเรียกร้องสิทธิจาก จ.กาฬสินธุ์ – กรุงเทพฯ

อธิบดี พก. เปิดเผย กรณีการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็น จากเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ ในกิจกรรมเดินทางไกลเรียกร้องสิทธิจาก จ.กาฬสินธุ์ – กรุงเทพฯ พร้อมแจงแนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและเป็นธรรม ย้ำ พก. ทำหน้าที่ดูแลพิทักษ์สิทธิ์คนพิการอย่างเต็มที่

วันที่ 5 ก.ย. 62 เวลา 11.00 น. ณ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดกาฬสินธุ์ นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เปิดเผยถึงกรณีการลงพื้นที่เพื่อพบปะ พร้อมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากกรณีเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการที่จัดกิจกรรมเดินทางไกลเรียกร้องสิทธิ จากจังหวัดกาฬสินธุ์ – กรุงเทพฯ ในกรณีคนพิการถูกละเมิดสิทธิ ถูกหักหัวคิวเงินช่วยเหลือคนพิการตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการ ว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ร่วมกับกระทรวงแรงงาน ดำเนินการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หากสถานประกอบการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการ ให้เป็นไปตามมาตรา 35 ซึ่งคนพิการอาจร้องเรียนในหลายช่องทาง ในส่วนที่กรมการจัดหางาน ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วจะจัดส่งข้อมูลให้ พก. เพื่อดำเนินการแจ้งเตือนให้สถานประกอบการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ภายใน 30 วัน หากพ้นกำหนดจะดำเนินการแจ้งอายัดทรัพย์และดำเนินคดีต่อไป โดยมีอายุความ 10 ปี ส่วนกรณีการหักหัวคิวการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 35 ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้สอบข้อเท็จจริงแล้วผลปรากฎว่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกง พก. จึงแนะนำให้ผู้ถูกละเมิดสิทธิ ไปแจ้งความร้องทุกข์เอาผิดกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายแล้ว

นางธนาภรณ์ กล่าวย้ำว่า แนวทางดังกล่าวจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและเป็นธรรม โดย พก. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐจะทำหน้าที่ดูแลพิทักษ์สิทธิ์คนพิการอย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันไม่ให้คนกลางหาผลประโยชน์จากกรณีนี้ได้ ส่วนกรณีที่มีการดำเนินการตรวจสอบที่ล่าช้า ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจในกระบวนการตรวจสอบและขั้นตอนในการดำเนินงาน โดย กระทรวง พม. พก. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เข้าหารือร่วมกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน อย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการร้องเรียนที่เกิดจากการดำเนินการตามมาตรา 35 ขณะเดียวกัน ได้เตรียมตั้งคณะทำงานร่วมกันในการตรวจสอบหรือตรวจเยี่ยมสถานประกอบการที่ได้รับสิทธิตามมาตรา 35 ทั้งก่อนและหลังการอนุญาตให้ใช้สิทธิสัมปทานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยอาศัยกลไกของคณะอนุกรรมการส่งเสริมอาชีพคนพิการ ภายใต้ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ พ.ศ. 2558 แต่งตั้งโดยอาศัยอำนาจในข้อ 9 (7) ของระเบียบข้างต้น พร้อมเตรียมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกันระหว่างผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงแรงงาน เพื่อทบทวนกระบวนการทำงานและหามาตรการและแนวทางในการป้องกันไม่ให้มีคนกลางมาหาผลประโยชน์จากคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ ภายในเดือนตุลาคม 2562 ทั้งนี้ ขอความร่วมมือคนพิการ เครือข่าย และประชาชนที่รู้เห็นการทุจริต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 หรือสายด่วนคนพิการ 1479 ได้ตลอด 24 ชม.

////////////////////////////////////