สทนช. ระดมหน่วยงานและเกษตรกรในพื้นที่ทำงานเชิงรุกเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำพื้นที่ภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา เตรียมพร้อมตั้งรับสถานการณ์น้ำ ก.ย.-ต.ค. วางแผนบริหารจัดการน้ำอ่างกักเก็บน้ำและพื้นที่หน่วงน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา รองรับมวลน้ำจากภาคเหนือ เชิญผู้แทนเกษตรกรลุ่มเจ้าพระยาร่วมวางแผนป้องกันทั้งแล้งและท่วมให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด
วันที่ 15 กันยายน 2567 นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารจัดการน้ำ (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายประพันธ์ ตรีบุบผา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยผู้แทนจังหวัดในลุ่มแม่น้ำภาคกลาง 9 จังหวัด ผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะทำงานฯ ได้ร่วมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณประตูระบายน้ำในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้แก่ ประตูระบายน้ำลาดชะโด ประตูระบายน้ำลาดชิด และประตูระบายน้ำกุฎี เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำจากสถานการณ์จริงในพื้นที่
รองเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า วันนี้ สทนช. ได้มีการประชุมเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำ (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นเอกภาพในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ป่าสัก สะแกกรัง และท่าจีน พร้อมทั้งเฝ้าติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของมวลน้ำที่ไหลลงมาสู่ภาคกลาง เพื่อประเมินสถานการณ์แก้ไขปัญหาให้ทันท่วงที รวมถึงการแจ้งเตือนประชาชนหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อลดปัญหาการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน โดยเบื้องต้นจะมีการประชุมคณะทำงานฯ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ และกรณีสถานการณ์น้ำมีความเสี่ยงรุนแรงยิ่งขึ้นก็จะเพิ่มความถี่ในการประชุมติดตามสถานการณ์ตามความเหมาะสมต่อไป
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง ณ ปัจจุบัน พบว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ของลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณรวม 16,038 ล้าน ลบ.ม. (คิดเป็น 61%) โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ ภูมิพล แควน้อยบำรุงแดน ป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง และ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ ไม่เกิน 52% ยกเว้นอ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ วันนี้มีปริมาณน้ำ 82% ดังนั้น ในภาพรวมหลายอ่างฯ จึงยังมีพื้นที่รองรับน้ำได้อีก สถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลัก ปิง วัง ยม และน่าน ระดับน้ำไม่สูงมากและมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำในลุ่มน้ำยมอาจสูงขึ้นช่วงปลายสัปดาห์แต่ไม่มากนัก ทำให้ในภาพรวมปริมาณน้ำที่จะไหลลงมาที่เขื่อนเจ้าพระยาลดลง โดยขณะนี้ระดับน้ำที่สถานี C2 จ.นครสวรรค์ มีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 4.88 ม. และระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงอีก ทำให้เขื่อนเจ้าพระยาปรับลดการระบายน้ำจากเดิม 1,200 ลบ.ม./วินาที ลดลงเหลือ 1,150 ลบ.ม./วินาที และอัตราการระบายน้ำออกทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกของเขื่อนเจ้าพระยา คงที่อยู่ที่ 219 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในพื้นที่ทุ่งลุ่มต่ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลง นอกจากนี้จากการเฝ้าจับตาสถานการณ์พายุ พบว่ายังไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดอย่างน้อยในช่วง 7 วันข้างหน้า นี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่เราจะสามารถวางแผนตั้งรับสถานการณ์ช่วงต่อไปได้ สำหรับการบริหารจัดการพื้นที่ทุ่งลุ่มต่ำ 11 ทุ่งเพื่อเตรียมไว้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ ขณะนี้กรมชลประทานได้สร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว มีการเก็บเกี่ยวไปแล้วเกือบ 100% สำหรับพื้นที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวก็ยังมีเวลาพอที่จะเก็บเกี่ยวได้ทันก่อนที่น้ำจะมาถึง ดังนั้น จึงสามารถใช้พื้นที่ทุ่งลุ่มต่ำภาคกลางเตรียมรองรับมวลน้ำได้ในสถานการณ์ฝนที่จะเกิดขึ้นตามแผนที่วางไว้ และยังได้กำชับให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมความพร้อมของเครื่องจักรเครื่องมือที่จะช่วยระบายน้ำในกรณีที่เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลางเพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด
“ปริมาณน้ำที่ไหลลงมาจากตอนเหนือขณะนี้แม้ว่าปริมาณน้ำยังไม่สูงมากจนน่ากังวล แต่ก็ยังไม่ควรประมาทกับสถานการณ์ฝนและพายุที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ คณะทำงานฯ จึงต้องมาเตรียมหารือเพื่อวางแผนตั้งรับทุกสถานการณ์ และในวันนี้กรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ได้คาดการณ์ว่าตั้งแต่วันที่ 16 เป็นต้นไป จะมีฝนตกในบางจุดของพื้นที่ภาคกลางทางทิศตะวันออกและภาคเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะที่ จ.เพชรบูรณ์ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำป่าสักอาจเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะรองรับปริมาณฝนที่จะตกลงมาได้ นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังต้องคำนึงถึงกรณีเกิดฝนตกไม่มากตามแผนที่คาดการณ์ไว้ก็จะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำจึงต้องวางแผนกักเก็บน้ำไว้ในระดับที่ปลอดภัยและต้องให้เพียงพอสำหรับใช้ในฤดูแล้งพร้อมทั้งต้องรักษาระบบนิเวศในพื้นที่ด้วย ซึ่งในวันนี้ก็ได้เชิญผู้แทนเกษตรกรใน จ.พระนครศรีอยุธยามาร่วมให้ข้อมูลสภาพปัญหาและความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อนำมาปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ทุ่งลุ่มต่ำภาคกลางเพื่อลดผลกระทบความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ลงได้” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว