ครอบครัวหัวใจอินทรีย์

สำหรับคอลัมน์เครือข่ายสีเขียวฉบับนี้ ผมขออนุญาตพาท่านผู้อ่านเข้าสวนผลไม้ออร์แกนิก หรือสวนผลไม้อินทรีย์ของครอบครัว “เปรมอนันต์” ที่ตำบลน้ำเป็น อำเภอเขาชะเมาจังหวัดระยองกันครับ ซึ่งหลายๆ ท่านอาจได้ไปเยี่ยมชมและลิ้มลองรสชาติผลไม้กันบ้างแล้ว ผมจะขอนำเรื่องราวของแรงบันดาลใจในการทำสวนผลไม้ของครอบครัวนี้มาให้ทราบกันครับ

คุณอุทัยทิพย์ เปรมอนันต์ บัณฑิตสาว ชาวระยอง จบการศึกษาสาขาพืชสวน จากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เริ่มทำงานครั้งแรกที่บริษัทส่งออกกล้วยไม้แห่งหนึ่ง ในตำแหน่งนักวิชาการประจำห้องปฏิบัติการ แล้วเปลี่ยนงานมาเป็นเจ้าหน้าที่การเงิน เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อ และเป็นเลขานุการผู้จัดการ ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ตามลำดับ

แต่งงานกับบัณฑิตหนุ่ม คนละสาขาวิชา แต่คณะและมหาวิทยาลัยเดียวกัน ชื่อ คุณสุรศักดิ์ ขุมทอง เมื่อมีทายาทคนแรกเป็นลูกสาว เริ่มมองถึงอนาคตของลูก ไม่อยากให้ลูกเติบโตท่ามกลางสิ่งแวดล้อมในเมืองหลวง จึงส่งลูกสาวมาอยู่กับแม่ที่จังหวัดระยองด้วยปรารถนาจะให้ลูกอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ และมีผู้ใหญ่คอยดูแลนี่คือจุดเริ่มต้น ของการผันชีวิต จากมนุษย์เงินเดือนในเมืองหลวงมาเป็นชาวสวนผลไม้ที่บ้านเกิดของ อุทัยทิพย์ เปรมอนันต์ บัณฑิตสาวที่กล่าวถึงจุดเริ่มต้น

ลาแล้วบางกอก

สองสามีภรรยาทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ จนลูกสาวเริ่มจะเป็นวัยรุ่น เกรงว่าการที่ครอบครัวแยกกันอยู่จะทำให้ลูกสาวเป็นเด็กมีปัญหา ประกอบกับอุทัยทิพย์เริ่มอิ่มตัวกับการเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งสองจึงได้ตัดสินใจลาออกจากบริษัท กลับมาทำสวนของครอบครัว “เปรมอนันต์” สืบต่อจากแม่ ซึ่งเป็นความตั้งใจตั้งแต่สมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยแล้ว

สวนผลไม้ของครอบครัว “เปรมอนัน ต์” อยู่ที่ ตำบลน้ำเป็น อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง ชื่อว่า “สวนอเนกอนันต์” พื้นที่ประมาณ 17 ไร่ เป็นสวนแบบผสมผสาน มีทั้งผลไม้ ไม้ยืนต้น และสมุนไพร โดยมีพืชที่ทำรายได้หลักคือ มังคุด พื้นที่ 14 ไร่ ลองกอง2 ไร่ เงาะ 1 ไร่ ส่วนพืชสมุนไพร เป็นพื้นที่ปลูกแซมไม้ใหญ่

“เดิมเป็นสวนผลไม้ที่ใช้สารเคมีมาตั้งแต่แรก กว่า 30 ปีมาแล้วใช้ทั้งสารกำจัดวัชพืช สารกำจัดแมลงศัตรูพืช และปุ๋ยเคมี พอตัวเองเข้ามาทำสวนเอง อยากจะทำเป็นสวนอินทรีย์ ที่จริงเป็นความตั้งใจตั้งแต่เรียนเกษตรแล้ว เพราะได้อ่านหนังสือ ปฏิวัติยุคสมัยฟางเส้นเดียวครอบครัวหัวใจอินทรีย์ของฟูโกโอกะ อยากทำเกษตรอินทรีย์ แต่ไม่มีโอกาสได้ทดลองทำพอมาทำสวนเองจึงขอทำอย่างที่ตั้งใจ แรกๆ แม่ก็ไม่เห็นด้วย เพราะกลัวว่าจะไม่ได้ผลผลิต แถมแม่ยังตำหนิด้วยว่า ขี้เกียจ ทำสวนอย่างนี้จะรอดหรือ จะพอกินหรือเปล่า” อุทัยทิพย์ เท้าความให้ฟัง

ทั้งสองสามีภรรยา ได้เริ่มทำสวนในระบบอินทรีย์ ตั้งแต่ปี 2547 ค่อยๆ ปรับเปลี่ยน ลดการใช้สารเคมีลดลง ด้วยความมุมานะ และศรัทธาในแนวทางพระราชดำริ “เกษตรทฤษฎีใหม่”ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มั่นใจและตั้ง ใจว่าจะต้องทำให้ได้พร้อมทั้ง พยายามเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ ลองผิดลองถูกกับสวนของตนเอง จนกระทั่งปี 2550 ได้เลิกใช้สารเคมีโดยสิ้นเชิงในขณะที่ภรรยาทดลองปฏิบัติกับสวนของตนเอง ฝ่ายสามี

ได้รับการอบรมการทำเกษตรอินทรีย์ ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสองสลึง ของผู้ใหญ่สมศักดิ์ เครือวัลย์ จนได้รับมอบหมายให้เป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับการผลิตพืชในระบบอินทรีย์ ประจำอยู่ที่ศูนย์ฯจนกระทั่งปี 2552 ได้ลาออกจากการเป็นวิทยากรประจำศูนย์ฯ กลับมาช่วยภรรยาทำสวน และเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ ให้กับผู้สนใจในชุมชน พร้อมกันนั้นก็ได้พยายามปฏิบัติตามข้อกำหนดของระบบเกษตรอินทรีย์จนได้รับการรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ หรือ “Organic Thailand” จากกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน

เกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ

อุทัยทิพย์พูดถึง การจัดการ “สวนอเนกอนันต์” ว่า“จัดการโดยดึงเอาสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เช่น จัดการหญ้าให้สัมพันธ์กับการจัดการแมลง การตัดแต่งทรงพุ่มให้สัมพันธ์กับการรับแสงแดดการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดิน รวมทั้งปรับปรุงสภาพของธาตุอาหารให้เหมาะสมกับการที่รากพืชจะดูดเอาไปใช้ได้ โดยยึดหลัก แดดถึง ดินดี ปุ๋ยพอ และแมลงสมดุล” ผลที่ตามมาก็คือได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ทั้งรสชาติ และขนาดที่โตขึ้น ที่สำคัญคือ ปลอดสารเคมี สุขภาพดีทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

สวนอเนกอนันต์ จะเน้นการเกื้อกูลกันของธรรมชาติ เน้นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด มีการปลูกไม้ป่าในบริเวณที่ไม่ได้ปลูกไม้ผล เพื่อทำให้เป็นพื้นที่สีเขียวและเป็นแนวกันชนรอบๆ สวนพืชที่ปลูกมีหลากหลายดังที่กล่าวมาแล้ว มีทั้งไม้ยืนต้น สมุนไพรไม้ประจำถิ่น ผสมผสานกันภายในสวน

จัดการพื้นที่ปลูกพืชอย่างเหมาะสม ทำให้พืชได้รับแสงอย่างเต็มที่ ไม่มีการทำลายเศษวัสดุต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดมลพิษปรับปรุงบำรุงดินอย่างสม่ำเสมอด้วยปัจจัยการผลิตที่ผลิตขึ้นเองจากวัตถุดิบภายในสวน เช่น มูลสัตว์ที่เลี้ยงเอง คือหมูหลุม นำมาทำปุ๋ยหมักใช้เอง มีการซื้อมูลสัตว์จากข้างนอกเข้ามามาบ้างเหมือนกัน แต่จะซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ผลผลิตที่เหลือจากการจำหน่ายจะนำมาทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ฮอร์โมนพืช เศษกิ่งไม้ในสวนนำมาเผาถ่านเพื่อใช้ในครัวเรือน แถมยังได้น้ำส้มควันไม้เก็บไว้ใช้ไล่แมลงศัตรูพืชด้วยสมุนไพรไล่แมลงก็จะผลิตใช้เองเช่นกัน โดยใช้สมุนไพรที่มีอยู่ในสวน

สวนอเนกอนันต์ ได้รับการคัดเลือกเป็นสถานที่สาธิตปุ๋ยหมักระบบเติมอากาศ ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยหมักแบบย่อยสลายเร็ว โดยใช้มูลสัตว์ และเศษซากพืช เป็นวัตถุดิบในการผลิต ผู้สนใจสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้

นอกจากปุ๋ยหมักแล้ว อุทัยทิพย์ ยังผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพสูตรต่างๆ ไว้ใช้เอง เช่น สูตรฮอร์โมนไข่เร่งการออกดอก โดยใช้ไข่ไก่1 กิโลกรัม นมวัว 1 ลิตร นมเปรี้ยว 1 ขวด สารเร่ง พด. 1 ซองหมักทิ้งไว้ 7 วัน สูตรปุ๋ยหมักเพิ่มแคลเซียมโบรอน โดยใช้ ผลและใบของพิลัง กาสา 40 กิโลกรัม สับปะรด 20 กิโลกรัม น้ำอ้อย 10 กิโลกรัม สารเร่งพด. 2 จำนวน 1 ซอง น้ำ 10 ลิตร และยังมีสูตรอื่นๆ เช่น สูตรบำรุงต้น และใบ โดยใช้ปลาหมักหรือนำส่วนสีเขียวของพืชมาหมักสูตรเร่งตาใบ โดยใช้ยอดพืชหมัก และสูตรเร่งตาดอก โดยใช้ผลไม้สีเหลืองหมักเป็นต้น

สำหรับสมุนไพรไล่แมลง ใช้บอระเพ็ด 5 กิโลกรัม ใบยูคาลิปตัส 1 กิโลกรัม ต้นตะไคร้ 2 กิโลกรัม ใส่ลงไปในหม้อกลั่นพลังงานแสงอาทิตย์ เติมน้ำ 50 ลิตร ต้มทิ้งไว้ 5 วัน จะได้น้ำสมุนไพรไว้ใช้ไล่แมลง

เมื่อถามถึงกระบวนการผลิตมังคุดอินทรีย์ อุทัยทิพย์ ลำดับความให้ฟังว่า

ต้องจัดการทางกายภาพ คือ หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ให้แสงส่องให้ถึง โดยเฉพาะในด้านที่รับแสงทางทิศตะวันออก-ตะวันตก ควรตัดแต่งกิ่งบางกิ่งออก

ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักทุก 45-60 วัน ประมาณ 500 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ โดยรอบทรงพุ่ม และพ่น หรือราดทับด้วยปุ๋ยน้ำชีวภาพเพื่อให้จุลินทรีย์ทุกๆ 15-30 วัน โดยปรับระดับความเข้มข้นตามความเหมาะสม ทั้งนี่ปุ๋ยน้ำชีวภาพ จะช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุเร็วขึ้น และช่วยเพิ่มธาตุอาหารพืช

ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบทุกๆ 30-45 วัน โดยพ่นปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพสูตรบำรุงต้น และใบ ซึ่งเป็นปุ๋ยหมักจากปลา หรือหมักจากส่วนสีเขียวของพืช เมื่อใบมังคุดกลายเป็นใบแก่ จึงเปลี่ยนไปใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรเร่งตาดอก ซึ่งหมักจากผลไม้สีเหลือง

การจัดการแมลงศัตรูพืช จะเน้นการทำให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศ คือแมลงศัตรูธรรมชาติมีมากพอสำหรับการกำจัดแมลงศัตรูพืช อย่างไรก็ตามจะใช้วิธีการจัดการทางกายภาพด้วยการฉีดพ่นสมุนไพรไล่แมลง ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นใบอ่อนช่วงออกดอก และช่วงที่เป็นผลอ่อน

กรณีฝนตกชุก ทรงพุ่มแน่นทึบ อาจทำให้เกิดเชื้อรา จะใช้สมุนไพรกันราอัตรา 200-300 ซีซี. ต่อน้ำ 200 ลิตร หรือใช้น้ำส้มควันไม้ ในอัตราความเข้มข้นรวมของปุ๋ยน้ำ/ฮอร์โมน/สมุนไพร ไม่เกิน1,000-2,000 ซีซี. ต่อน้ำ 200 ลิตร ทั้งนี้การใช้ปุ๋ยน้ำหมัก ฮอร์โมนหรือน้ำสมุนไพรต่างๆ สูตร หรืออัตราการใช้ต้องปรับตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม เช่น ความชื้นในอากาศ อายุใบ ดอก สภาพต้น เป็นต้น

การกำจัดวัชพืช ใช้วิธีตัดด้วยเครื่องตัดหญ้าแทนการใช้สารกำจัดศัตรูพืช โดยใช้หลักการง่ายๆ คือ ตัดหญ้าก่อนมังคุดแตกใบอ่อน และก่อนออกดอก-ผลอ่อน โดยกะเวลาให้หญ้างอกใหม่โตพอที่จะเป็นแหล่งอาศัยของแมลง แมลงจะได้ไม่ขึ้นไปอาศัยบนต้นมังคุดและทำลายใบอ่อน ดอก และผลอ่อน

ไม่ตัดหญ้าทีเดียวให้หมดสวน ให้มีวัชพืชเติบโตเป็นบางส่วนเพื่อให้เป็นที่อาศัยของแมลง ก่อนตัดหญ้าให้พ่นปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพร่วมกับน้ำส้มควันไม้ลงไปบนหญ้า หญ้าจะดูดซึมปุ๋ยเข้าไป เมื่อเห็นหญ้าเริ่มฟุบให้ตัดหญ้า จากนั้นฉีดพ่นน้ำหมักทับซากหญ้าอีกครั้งเพื่อให้ย่อยสลายเป็นปุ๋ยเร็วขึ้น

ช่วงผลอ่อน ถึงระยะเก็บเกี่ยว ควรจัดการตัดหญ้ารอบทรงพุ่ม และบริเวณทางเดินในสวน เพื่อสะดวกต่อการเก็บเกี่ยวและขนย้าย ไม่มีวัชพืชแย่งน้ำ และสารอาหารในช่วงการบำรุงผล สำหรับวัชพืชชนิดใดที่ไม่ต้องการให้แพร่ขยายออกไปควรตัดก่อนที่ดอกวัชพืชนั้นจะแก่

สำหรับการเก็บเกี่ยวมังคุด ต้องระวังไม่ให้ผลผลิตกระทบกระแทก เพื่อรักษาคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บเกี่ยวคือ ตะกร้อเก็บมังคุดแบบถุงกาแฟ ซึ่งต้องดูแลให้สะอาด และบำรุงรักษาให้พร้อมใช้งานเสมอ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในกรบรรจุผลผลิตเพื่อการขนย้ายต้องสะอาด

ด้วยความเป็นนักวิชาการ อุทัยทิพย์ จึงทำเอกสาร และบันทึกกิจกรรมที่ดำเนินการภายในสวน ตั้งแต่ประวัติสวน แผนที่แปลงแผนผังฟาร์ม จัดทำ แผนการผลิต บัน ทึกกิจกรรม การผลิตและการปฏิบัติภายในสวน การนำเข้าปัจจัยการผลิตจากภายนอกเข้ามาในสวน บันทึกและเก็บรวบรวมหลักฐานการจำหน่าย ใบเสร็จต่างๆ ผลการดลองที่ทำในสวนเพื่อหาแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมในสวนของตนเอง

ทุกอย่างในสวนคือ รายได้

อุทัยทิพย์ กล่าวถึงตลาดของมังคุดอินทรีย์ ซึ่งเป็นผลผลิตที่ทำรายได้หลักให้กับครอบครัวว่า “ในช่วงแรกๆ ผลผลิตมังคุดที่ได้จากการผลิตในระบบอินทรีย์ ซึ่งปรับเปลี่ยนมาจากการผลิตในระบบใช้สารเคมี คือ ผิวไม่สวย เนื่องจากมีแมลงเข้าทำลาย แต่รสชาติดี และปลอดภัย ถึงกระนั้นก็ทำให้ขายไม่ได้ราคา จึงนำผลผลิตมาขายให้ผู้บริโภคโดยตรงที่กรุงเทพฯ พยายามอธิบายให้ลูกค้าทราบถึงวิธีการผลิตว่าไม่ใช้สารเคมี รสชาติดี มีความปลอดภัย รับประกันคุณภาพ ยินดีให้เปลี่ยนสินค้าถ้าผลผลิตที่ได้ไปไม่มีคุณภาพ” อุทัยทิพย์ย้อนอดีตให้เห็นถึงปัญหาที่เผชิญในระยะแรก

ต่อมาระบบนิเวศ และสภาพแวดล้อมภายในสวนเริ่มมีความสมดุลมากขึ้น โรคแมลงลดน้อยลง มีศัตรูธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นเช่น นก ตัวหํ้า ตัวเบียน ส่งผลให้ผลผลิตมังคุดในระยะต่อมามีปริมาณและคุณภาพดีขึ้น ทั้งรูปลักษณ์และรสชาติ

ปัจจุบันผลผลิตส่วนใหญ่ขายในประเทศ โดยจะติดต่อส่งให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตของห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ มีบ้างที่ลูกค้ามาซื้อถึงสวน นอกจากนี้ ยังมีระบบขายทางอินเตอร์เน็ต ด้วยการรวบรวมผู้สั่งซื้อแล้วนำผลผลิตไปส่งให้ ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าในกรุงเทพฯ นำผลผลิตไปขายที่ตลาด อ.ต.ก. และหมู่บ้านจัดสรรที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ มีผลผลิตบางส่วนส่งให้กับบริษัทผลิตน้ำมังคุด และยังมีผลผลิตอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ขนาด หรือผลผลิตที่ร่วงหล่นจะนำมาแปรรูปเป็นไวน์ผลไม้

ในสวนยังปลูกไม้ผล และสมุนไพรอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่นมะกรูด มะเฟือง มะนาว มะพร้าว หม่อนรับประทานผล ผลผลิตเหล่านี้ได้นำมาแปรรูปเป็นยาสระผม สบู่ ครีม น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ถ่านน้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า เพื่อใช้ในครัวเรือน และนำไปจำหน่ายในชุมชน ตลาดสีเขียวของอำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้าของตลาด จนกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในฐานะสินค้าเพื่อสุขภาพ

การให้คือความสุข

สองสามีภรรยา ยังแสวงหาความรู้เพื่อนำมาพัฒนา “สวนอเนกอนันต์อยู่เสมอทั้งจากหนังสือ เอกสาร อินเตอร์เน็ต และการฝึกอบรม ขณะเดียวกันก็ยังทดลองทำในสิ่งที่ได้เรียนรู้มา อะไรที่ได้ผลก็ทำต่อไป อะไรที่ไม่ได้ผลก็ทดลองวิธีใหม่ ทั้งนี้เพื่อต้องการปรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันความรู้ที่ได้จากการแสวงหา และจากการทดลองก็ไม่ได้เก็บไว้คนเดียวแต่ได้ถ่ายทอดให้กับคนอื่นๆ ที่สนใจ เพื่อนำไปขยายผลต่อไป จนได้รับยกย่องว่าเป็น “ปราชญ์ชาวบ้าน”

การทำสวนผลไม้อินทรีย์ ได้ถ่ายทอดไปสู่ลูกสาว 2 คน ให้เป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ พ่อแม่ ลูกยังได้เข้าร่วมกิจกรรมกับ “กลุ่มรักษ์เขาชะเมา” ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรเอกชน ที่มีแนวคิดในการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม อนุรักษ์ภูมิปัญญา ส่งเสริมให้เยาวชนให้รักท้องถิ่น ช่วยเหลือสังคมของชุมชนในด้านต่างๆ อย่างเต็มใจและนี่คือ ความสุข “การให้” ของ “ครอบครัวหัวใจอินทรีย์”

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับแนวความคิดของคุณอุทัยทิพย์ และครอบครัว ในการสร้าง และพัฒนาสวนผลไม้ “สวนอเนกอนันต์” ที่มีการปรับเปลี่ยนในเชิงบวกให้กับครอบครัว สังคมและชุมชน รวมถึงสร้างความสุขให้กับผู้บริโภคได้รับประทานผลไม้ที่มีคุณภาพ รสชาติดี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ท่านผู้อ่านสามารถไปศึกษาเยี่ยมชม และอุดหนุนผลไม้ได้ที่สวนอเนกอนันต์จังหวัดระยอง หรือเข้าไปดูรายละเอียดก่อนได้ที่เฟซบุ๊กสวนเอนกอนันต์ ก็ได้นะครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก น.ส.พ.กสิกร