สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 30 ส.ค. 67 เวลา 7.00 น.

1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคตะวันออก : จ.จันทบุรี (122 มม.) ภาคใต้ : จ.นครศรีธรรมราช (97 มม.) ภาคเหนือ :จ.แม่ฮ่องสอน (94 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.เลย (86 มม.) ภาคกลาง : จ.ปทุมธานี (44 มม.) ภาคตะวันตก : จ.ประจวบคีรีขันธ์ (24 มม.)

สภาพอากาศวันนี้ : ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนบน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

คาดการณ์ : วันที่ 1-3 ก.ย. 67 ร่องมรสุมกำลังปานกลางจะเลื่อนพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ ภาคตะวันออก และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน

2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 61% ของความจุเก็บกัก (49,178 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 43% (25,000 ล้าน ลบ.ม.)

3. ประกาศที่เกี่ยวข้อง
3.1 ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 12/2567 ลงวันที่ 28 ส.ค. 67 เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น ช่วงวันที่ 25-31 ส.ค. 67 ขอให้เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นและเตรียมรับมือจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและท่วมขังบริเวณริมแม่น้ำโขง บริเวณ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
3.2 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แจ้งเตือนเฝ้าระวัง!!! น้ำทะเลหนุนสูงช่วงวันที่ 30 ส.ค. – 5 ก.ย. 67 เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง และคาดว่าจะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ

4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 67 นายศราวุธ สากล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 2 และเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 2 เข้าร่วมการประชุมซักซ้อมแผนเผชิญเหตุอุทกภัย และดินถล่ม จังหวัดปราจีนบุรี ปี 2567 ณ ห้องประชุมสระมรกต (401) ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีนายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เป็นประธานการประชุม และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม โดยที่ประชุมได้รายงานแผนเผชิญเหตุอุทกภัย และดินถล่ม พื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ปี 2567 แนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และในที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาการเตรียมความพร้อมและแนวทางการบูรณาการการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

5. สถานการณ์อุทกภัย: วันที่ 29 ส.ค. 67 ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.เวียงแก่น พาน และเวียงป่าเป้า) จ.ลำพูน (อ.ลี้) จ.ลำปาง (อ.วังเหนือ) จ.สุโขทัย (อ.เมืองฯ สวรรคโลก ศรีสำโรง ศรีนคร กงไกรลาศ และศรีสัชนาลัย) จ.พิษณุโลก (อ.บางระกำ และพรหมพิราม) จ.เพชรบูรณ์ (อ.หล่มสัก) จ.หนองคาย (อ.รัตนวาปี ศรีเชียงใหม่ สังคม ท่าบ่อ และเมืองฯ) จ.หนองบัวลำภู (อ.เมืองฯ)