ชป.เผย “โพดุล” ทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุ “โพดุล” ที่เคลื่อนตัวเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนหลายแห่งเพิ่มมากขึ้น อาทิ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก มีปริมาณน้ำในอ่างฯอยู่ที่ 4,930 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 37 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯประมาณ 82.66 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิตติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯอยู่ที่ 4,764 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50     ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯประมาณ 98.14 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก มีปริมาณน้ำในอ่างฯอยู่ที่ 254 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯประมาณ 16.28 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ อยู่ที่ 887 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯประมาณ 69.20 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณน้ำในอ่างฯอยู่ที่ 549 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯประมาณ 5.82 ล้าน ลบ.ม.และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ที่ 71    ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 7 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯประมาณ 18.75 ล้าน ลบ.ม. เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังคงมีแนวโน้มที่เขื่อนใหญ่เหล่านี้จะมีน้ำไหลลงอ่างฯเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ เก็บกักน้ำไว้ในเขื่อนทุกแห่งให้ได้มากที่สุด ยกเว้นเขื่อนที่มีปริมาณน้ำเกิน   ความจุเก็บกักหรือล้นทางระบายน้ำล้น(Spillway) อยู่ในขณะนี้ ให้เร่งลดปริมาณน้ำลงให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมตามแต่ละช่วงเวลา โดยไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน สำหรับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนต่างๆ ในระยะนี้ ส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในเขื่อนแต่ละแห่งเพิ่มมากขึ้น แต่เขื่อนหลายแห่งก็ยังคงมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย     ซึ่งจะต้องสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดต่อเนื่อง เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่เพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า

อนึ่ง สำหรับการช่วยเหลือพื้นที่นำท่วมขัง นั้น แม้ว่าขณะนี้ปริมาณฝนในหลายพื้นที่จะเริ่มลดน้อยลงแล้วก็ตาม กรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะการเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ชุมชน หรือพื้นที่การเกษตร ด้วยการระดมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องจักร และเครื่องมือต่างๆ เข้าไปเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำสายหลักให้เร็วที่สุด จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ หากประชาชนในพื้นที่ใด มีข้อสงสัยหรือต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา 

***************************************

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทวงเกษตรและสหกรณ์

1 กันยายน 2562