สทนช. ใช้กลไกศูนย์ส่วนหน้า (ชั่วคราว) บูรณาการหน่วยงานเร่งแก้ไขสถานการณ์อุทกภัยพื้นที่จันทบุรี-ตราด จัดรถ โมบายให้บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำสำหรับประชาชนในพื้นที่ คาดการณ์ปริมาณฝนและระดับน้ำจะยังทรงตัว 3-7 วัน เตือนประชาชนเปิดรับข้อมูลข่าวสารเตรียมพร้อมรับมือตลอดเวลา
นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะโฆษก สทนช. เปิดเผยว่า เนื่องจากเกิดร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออก ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายจักรพงษ์ แสงมณี) ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยทั่วประเทศ และมีความเป็นห่วงประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก จึงได้สั่งการให้ สทนช. ลงพื้นที่ จ. จันทบุรี และ จ. ตราด เพื่อใช้กลไกศูนย์อำนวยการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ที่ได้จัดตั้งขึ้นที่ จ. ระยอง บูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่เพื่อระดมสรรพากำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์อุทกภัยโดยเร็ว สำหรับพื้นที่ จ.จันทบุรี นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประจำการอยู่ในพื้นที่และได้นำรถโมบายหน่วยติดตามสถานการณ์น้ำเคลื่อนที่ของ สทนช. ที่สามารถติดตามรายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำได้เป็นรายชั่วโมงไปประจำการที่วัดจันทนาราม จ. จันทบุรี เพื่อให้บริการข้อมูลและแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้วย
สำหรับสรุปสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ. จันทบุรี พบว่าในช่วง 3 วันที่ผ่านมา มีฝนตกหนักที่ อ.มะขาม มีปริมาณฝนวัดได้ 339 มิลลิเมตร และ อ.ขลุง ปริมาณฝน 330 มิลลิเมตร ทำให้ในวันนี้มีปริมาณน้ำไหลผ่านตัวเมืองจันทบุรี ปริมาณ 450 ลบ.ม./วินาที โดยปริมาณน้ำส่วนหนึ่งได้ระบายผ่านคลองภักดีรำไพฯ ในอัตรา 400 ลบ.ม./วินาที ทำให้ขณะนี้ ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองเริ่มทรงตัว แต่ก็อาจมีปริมาณเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากคาดว่าจะมีน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงค่ำของวันนี้ ทำให้ระดับน้ำอาจเพิ่มขึ้น 20 – 30 เซนติเมตร แต่ก็จะเริ่มลดระดับลงในช่วง 03.00 น. ของวันพรุ่งนี้ (30 ก.ค. 67) ทั้งนี้ จากการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานในพื้นที่ พบว่ายังสามารถรองรับระดับน้ำในแม่น้ำจันทบุรีที่เพิ่มขึ้นได้อีกถึง 40 เซนติเมตร โดยจากนี้ไปถึงเวลาประมาณ 21.00 น. ของวันนี้ ปริมาณน้ำจะเริ่มสูงขึ้น และหลังจากนั้นจะปรับลดลง จึงขอให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สำหรับการคาดการณ์ฝนล่วงหน้า 3 วันต่อจากนี้ คาดว่าว่าจะมีฝนตกในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีระหว่างวันที่ 29 – 31 ก.ค. 67ปริมาณฝนอยู่ในเกณฑ์ 200 – 250 มิลลิเมตร โดยจะตกซ้ำในพื้นที่ อ.มะขาม และ อ.ขลุง และตกหนักเพิ่มเติมที่ อ.เขาคิชฌกูฏ อ.เมืองจันทบุรี และ อ.แหลมสิงห์ ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำจันทบุรียังคงทรงตัวอยู่ในระดับนี้ต่อไปอีก 3 – 7 วัน
รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์น้ำที่ จ.ตราด นั้น สถานการณ์ฝนปัจจุบัน มีปริมาณฝนในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมมา ที่ อ.บ่อไร่ 71.8 มิลลิเมตร อ.เกาะช้าง 67.5 มิลลิเมตร อ.แหลมงอบ 47.0 มิลลิเมตร อ.คลองใหญ่ 43.6 มิลลิเมตร และอ.เมืองตราด 44.6 มิลลิเมตร ส่งผลกระทบไปในพื้นที่ อ.คลองใหญ่ (ต.ไม้รูด และหาดเล็ก) อ.เขาสมิง (ต.สะตอ เทพนิมิตและประณีต) อ.บ่อไร่ (ต.บ่อพลอย นนทรีย์ ช้างทูน หนองบอน และด่านชุมพล) อ.เมืองตราด (ต.หนองคันทรง ห้วยแร้ง วังกระแจะ หนองโสน และท่ากุ่ม) ส่งผลกระทบบ้านเรือนประชาชน 304 ครัวเรือน สถานที่ราชการ 3 แห่ง เรือล่ม 5 ลำ ทางหลวงถูกน้ำท่วม 5 แห่ง ได้แก่ 1) ทางหลวงหมายเลข 3159 (เขาสมิง – นทรีย์) 2) ทางหลวงหมายเลข 3157 (แสนตุ้ง – หนองบัว) 3) ทางหลวงหมายเลข 3158 (แสนตุ้ง – หนองบัว) 4) ทางหลวงหมายเลข 3388 (บ้านโป่ง – บ่อไร่) 5) ทางหลวงหมายเลข 3388 (บ้านโป่ง – บ่อไร่)
“สำหรับการเข้าช่วยเหลือในพื้นที่รับผลกระทบของ จ.ตราด นั้น ศูนย์อำนวยการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ได้จัดรถโมบายหน่วยติดตามสถานการณ์น้ำเคลื่อนที่เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำให้แก่ประชาชนในพื้นที่ อ.เขาสมิง กรมชลประทานได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดพร้อมเข้าให้การช่วยเหลือในพื้นที่ให้เร็วที่สุด โดยมีการประสานหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าดูแลให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ในพื้นที่อุทกภัยด้วยการนำถุงชีพ ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ไปมอบให้และดำเนินการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดย สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยังคงเกาะติดสถานการณ์เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาอุทกภัย และลดผลประทบที่อาจเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด” โฆษก สทนช. กล่าวในตอนท้าย