สทนช. รับข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี เร่งบูรณาการแก้ไขปัญหาทำนบดินชั่วคราวของอ่างฯ ห้วยเชียงคำ คาดซ่อมแซมเบื้องต้นเสร็จภายใน 7 วัน พร้อมเร่งสำรวจความเสียหายเยียวยาประชาชน ชี้เตรียมรับมือฝนที่จะกลับมาตกหนักอีกครั้งช่วงปลายเดือนนี้ โดยใช้กลไกศูนย์ส่วนหน้าฯ และเฝ้าระวังสถานการณ์ทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด
วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยผลการประชุมว่า สถานการณ์ฝนตกหนักในระยะนี้ทำให้เกิดอุทกภัยในลักษณะน้ำท่วมขังและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีพื้นที่ประสบอุทกภัย 9 จังหวัด ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยา เลย ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ชลบุรี และเพชรบุรี สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่อีก 2 จังหวัด คือ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งประสบปัญหาฝนตกหนักในระยะเวลาอันสั้นส่งผลให้น้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร และจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำเป็นจำนวนมากจากฝนตกหนักจนเกินความจุอ่างฯ ส่งผลให้ทำนบดินชั่วคราวขาด บริเวณแนวก่อสร้างทำนบดินชั่วคราว เพื่อปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้น (Spillway) ทำให้เกิดน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรริมลำห้วยที่ระบายน้ำด้านท้ายอ่างฯ ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
“จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ภายหลังมีฝนตกหนักบริเวณอ่างฯ ห้วยเชียงคำ ตำบลโนนราศี อำเภอบรบือ มีปริมาณน้ำฝน 2 วัน จำนวนกว่า 220 มิลลิเมตร ทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ เป็นจำนวนมากจนเกินความจุ ส่งผลให้ทำนบดินขาด โดยเป็นทำนบดินชั่วคราวที่กรมชลประทานก่อสร้างขึ้นในระหว่างปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้นเพื่อขยายขนาดช่องระบายน้ำของอ่างฯ ห้วยเชียงคำ ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว จึงได้สั่งการให้ใช้กลไกของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำมูล ซึ่งมี สทนช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานบูรณาการการปฏิบัติงานของหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาให้เข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว รวมทั้งให้เร่งช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชน โดยในวันนี้ นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการ สทนช. ได้ลงพื้นที่และบูรณาการ การดำเนินงานกับกรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อำเภอบรบือ และหน่วยงานท้องถิ่น พบว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากนี้ปริมาณน้ำส่วนนี้จะไหลเข้าสู่ลำเสียวใหญ่และไหลลงไปยังแม่น้ำมูล บริเวณอำเภอปทุมรัตน์ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด รวมถึงจังหวัดยโสธรและจังหวัดอุบลราชธานี โดยปริมาณน้ำจะไม่ล้นตลิ่งทำให้ไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ดังกล่าว พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการซ่อมแซมเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน โดยปรับปรุงให้สามารถเก็บน้ำในช่วงปลายเดือน ส.ค. 67 ไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้อย่างพอเพียง ในส่วนของการชดเชยความเสียหาย ปัจจุบันจังหวัดมหาสารคามและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจ ทั้งนี้ สทนช. ได้กำชับให้กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการสำรวจความมั่นคงของอาคารชลศาสตร์ทุกแห่งให้มีความแข็งแรงตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 67 อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม จะมีการติดตามประเมินสถานการณ์ฝนและสถานการณ์น้ำในอ่างฯ ทุกแห่งอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำไม่ให้มีปริมาณน้ำเกินศักยภาพที่อ่างฯ จะรองรับได้” ดร.สุรสีห์ กล่าว
เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า สทนช. ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. ได้คาดการณ์สภาพอากาศในช่วงสัปดาห์นี้ พบว่า ในวันที่ 18 – 19 ก.ค. 67 ประเทศไทยยังคงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้มีฝนตกมากในพื้นที่ภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดตราดและจันทบุรี ภาคเหนือตอนล่าง บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์และพิษณุโลก รวมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ชายขอบ ก่อนที่ปริมาณฝนจะลดลง และจะกลับมามีฝนเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายเดือน ก.ค. 67 จากหย่อมความกดอากาศต่ำ กำลังแรงซึ่งอยู่ทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งกำลังพัฒนาตัว แต่มีแนวโน้มว่าจะเคลื่อนที่ไปทางประเทศไต้หวันและประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม จะมีผลทำให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ซึ่งจะมีการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก รวมถึงการเฝ้าระวังสถานการณ์ดินโคลนถล่ม เนื่องจากปัจจุบันมีค่าความชื้นในดินสูง ซึ่ง สทนช. จะมีการบูรณาการผ่านศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และลุ่มน้ำบางปะกง ณ จังหวัดระยอง และศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำมูล ณ จังหวัดนครราชสีมา ตามที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล สทนช. ได้มอบหมาย รวมถึงติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด
“สำหรับสถานการณ์ลานีญาของประเทศไทยซึ่งได้คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค. 67 แต่เนื่องจากปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำทะเล จึงคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สถานการณ์ลานีญาตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค. 67 ทั้งนี้ สทนช. ได้มอบหมายให้กรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. ติดตามประเมินสภาพอากาศและทิศทางของฝนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ข้อมูลฝนคาดการณ์ ที่มีความแม่นยำสามารถนำมาใช้บริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดปัญหาอุทกภัยให้ได้มากที่สุด รวมถึงสามารถกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ให้เพียงพอในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง” ดร.สุรสีห์ กล่าวในตอนท้าย