กรมชลฯ เร่งช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย หลายพื้นที่ปริมาณน้ำลดลง สถานการณ์น้ำดีขึ้นตามลำดับ

หลังจากสถานการณ์ฝนตกหนักติดต่อกัน ในช่วงสองวันที่ผ่านมา ส่งผลให้น้ำในน้ำลำเอ่อล้นพื้นที่ริมฝั่งหลายแห่ง กรมชลประทานได้เข้าช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้มีพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัย เนื่องจากมีฝนตกหนักในช่วง2วันที่ผ่านมา รวม 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครพนม ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี อุดรธานี อำนาจเจริญ และจังหวัดมุกดาหาร กรมชลประทาน ได้เข้าให้ความช่วยเหลือแต่ละพื้นที่อย่างเร่งด่วน  อาทิ ที่จังหวัดนครพนม บริเวณบ้านนาคู่ อ.นาแก จ.นครพนม และ บริเวณบ้านต้นแหน ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม สำนักงานชลประทานที่ 7 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว 4 เครื่อง เร่งระบายน้ำที่ท่วมขัง และแขวนบานระบายประตูระบายน้ำในลำน้ำก่ำ เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงแล้ว คาดการณ์ว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติใน 4-5 วัน

สำหรับพื้นที่น้ำท่วมที่จังหวัดยโสธร บริเวณบ้านกุดสำโรง ต.ศรีฐาน อ.ป่าติ้ว  บ้านโพธิ์ไทร ต.โพธิ์ไทร อ.ป่าติ้ว และบ้านเซซ่ง ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว และพื้นที่น้ำท่วมในจังหวัดอำนาจเจริญ  แนวโน้มระดับน้ำท่วมทรงตัว ทั้ง 2 จังหวัด ปัจจุบันไม่มีฝนตกเพิ่มเติมในพื้นที่ คาดการณ์ว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 3-4 วัน ส่วนที่จังหวัดมุกดาหาร ในเขต อ.เมือง อ.คำชะอี อ.ดอนตาล อ.หนองสูง และ อ.นิคมคำสร้อย ปัจจุบันพื้นที่น้ำท่วมคงเหลือ12,880 ไร่ คาดการณ์ว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติใน 3-4 วัน

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำปัจจุบัน( 28 ส.ค. 2562)  เขื่อนสิรินธร มีปริมาณน้ำ 1,256.39 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 64 ของความจุอ่าง  มีปริมาตรน้ำไหลเข้าอ่างฯ 13.41 ล้าน ลบ. ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 60 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 28.63 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ75.17 มีปริมาตรน้ำไหลเข้าอ่างฯ 20.24 ล้าน ลบ.ม.  ขณะที่น้ำในลำน้ำสายต่างๆ  มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น  กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 7  ได้เตรียมการรับสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย โดยสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเข้าช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยทั้งหมด รวม 13 เครื่อง  และเตรียมติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเพื่อรับอุทกภัยเขตเทศบาลเมืองนครพนมอีกจำนวน 7 เครื่อง โดยติดตั้งและดำเนินการสูบแล้ว 4 เครื่อง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำอีกจำนวน 4 เครื่อง บริเวณบ้านนาคู่ อ.นาแก  นอกจากนี้ยังได้สำรองเครื่องสูบน้ำจำนวน 61 เครื่องและรถบรรทุกน้ำ10 คัน พร้อมให้การช่วยเหลือพื้นที่ได้อย่างทันที

ที่จังหวัดกาฬสินธุ์  บริเวณบ้านพรมสว่าง ต.กุดสิมคุ้มใหม่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ บ้านหนองห้าง ต.ภูแล่นช้าง อ.นาคู  ปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งและมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ที่จังหวัดร้อยเอ็ด บริเวณบ้านโนนเชียงหวาง บ้านหนองบุ่ง ตำบลโคกกกม่วง อำเภอโพนทอง บ้านนาวี ตำบลวิลัย บ้านดงแจ้ง บ้านหนองจอก บ้านหนองผักตบ ตำบลเหล่าน้อย อ.เสลภูมิ  และพื้นที่ฝั่งซ้ายของลำน้ำยัง มีระดับน้ำท่วมสูง 1.46 เมตร และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้เข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยนำเครื่องจักร-เครื่องมือ รถแบ็คโฮ 3 คัน และกระสอบทรายกว่า 2,100 ใบ เข้าประจำไว้ในจุดเสี่ยงน้ำท่วม พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดเฝ้าระวัง เพื่อติดตามสภาพน้ำและตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของคันพนังกั้นน้ำยังตลอดความยาว พร้อมเพิ่มการระบายน้ำลงท้ายเขื่อนยโสธร เพื่อเร่งระบายน้ำชีให้มีระดับต่ำลง รวมทั้งเปิดประตูระบายน้ำบุ่งเบ้าและประตูระบายบ้านปาก บริเวณพนังกั้นน้ำยังฝั่งขวา และระบายน้ำผ่านห้วยวังหลวงลงบึงเกลือ เพื่อตัดยอดน้ำลงแม่น้ำชี คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติใน 1-2 วัน

ด้านจังหวัดอุดรธานี โครงการชลประทานอุดรธานี นำรถแบ็คโฮ จำนวน 2 คัน ทำการเปิดทางน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำลงอ่างเก็บน้ำหนองสำโรง  หลังจากมีน้ำท่วมขังในเขตอำเภอเมือง ที่จังหวัดอุบลราชธานี  โครงการชลประทานอุบลราชธานี ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ พื้นที่อำเภอสำโรง เนื่องเกิดน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาพนมดงรักไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วัน

ส่วน สถานการณ์น้ำ เขื่อนขนาดใหญ่ 3 แห่ง  ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ534.16 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 22 ของความจุอ่าง  เขื่อนลำปาว มีปริมาณน้ำ 667.40 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ33.71 ของความจุอ่าง  และเขื่อนจุฬาภรณ์ มีปริมาณน้ำ 41.91 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25.60 ของความจุอ่าง  และอ่างฯขนาดกลางจำนวน 69 แห่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกัน 141.75 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 32.19 ของความจุอ่าง ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้มีแผนรับมือสถานการณ์น้ำหลาก โดยเตรียมพร้อมด้านเครื่องมือ เครื่องจักร และบุคลากร ไว้เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อนำมาประเมินสถานการณ์ในการให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งตรวจสอบอาคารชลประทานทุกแห่งให้มั่นคงแข็งแรง พร้อมใช้งานอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนในพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศในพื้นที่ตนเองอย่างใกล้ชิด คาดว่าหากไม่มีปริมาณฝนเพิ่ม สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววัน

*************************************

กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์