‘กรมทะเล’ เผยผลชันสูตรซากวาฬบรูด้าเกยตื้น บริเวณอ่าวสอง เกาะพะลวย สุราษฎร์ธานี พร้อมขอความร่วมมือปชช.ช่วยกันดูแลก่อนจะสูญพันธุ์จากทะเลไทย

วันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ภายหลังจากได้ทราบข่าวว่าพบวาฬบรูด้าเกยตื้น บริเวณอ่าวสอง เกาะพะลวย ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง เร่งลงพื้นที่ร่วมกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 และอุทยานหมู่เกาะอ่างทอง ผ่าชันสูตรซากวาฬบรูด้าเกยตื้น จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นวาฬบรูด้า เพศผู้ วัยรุ่น ความยาว 9.6 เมตร น้ำหนักประมาณ 5 ตัน สภาพซากสด ผอม มีแผลถลอกตามลำตัว โดยผลชันสูตรพบฟองอากาศขนาดเล็กจำนวนมากในหลอดลม แขนงหลอดลมและปอด ผนังหลอดลมมีสีแดง พบก้อนเลือดแข็งตัวสีขาวในเส้นเลือดปอดข้างขวา ตับมีสีอ่อนกว่าปกติ เนื้อเยื่อไตมีสีแดงเข้มกว่าปกติ พบของเหลวสีขุ่นในกระเพาะอาหาร ไม่พบอาหารในกระเพาะอาหารและลำไส้ พบของเหลวสีเหลืองเข้มในลำไส้ส่วนต้น และพบของเหลวสีเขียวเหลืองในลำไส้ส่วนท้าย ทั้งนี้ สาเหตุการตายสันนิษฐานเบื้องต้นว่า เกิดจากการเจ็บป่วยตามธรรมชาติ ทำให้เกยตื้นและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทั้งนี้ได้เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อนำไปศึกษาหาสาเหตุการตายที่แน่ชัดต่อไป

ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ออกสำรวจวาฬบรูด้า ทั้งทางเรือ ทางอากาศอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินแนวโน้มจำนวนประชากรและจัดทำฐานข้อมูลสัตว์ทะเลหายากในประเทศไทย เพื่อยกระดับความสำคัญของการอนุรักษ์วาฬบรูด้าควบคู่ไปกับการคุ้มครองตามมาตรการทางกฎหมาย รวมถึงดำเนินการช่วยชีวิตหากพบการเกยตื้น เพื่อรักษาฟื้นฟูสุขภาพวาฬบรูด้าก่อนปล่อยคืนสู่ท้องทะเล ตลอดจนการชันสูตรหาสาเหตุและแนวทางป้องกันในการลดการสูญเสีย พร้อมทั้งเสริมสร้างและอบรมเครือข่ายในการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นและลดอัตราการเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม วาฬบรูด้าเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งนับวันจะสูญพันธุ์ไปจากท้องทะเลไทย ดังนั้น พวกเราทุกคนต้องลุกขึ้นมาปกป้อง คุ้มครอง และรักษาไว้ โดยเริ่มต้นจากการลดการทิ้งขยะลงในทะเล ทำประมงอย่างถูกกฎหมาย เดินเรือให้ห่างจากแหล่งอาศัยของวาฬบรูด้า และท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบที่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อวาฬบรูด้า ตลอดจนช่วยกันสอดส่องดูแลหากพบเจอวาฬบรูด้าหรือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่กรม ทช.ในพื้นที่ เพื่อจะได้เร่งดำเนินการตรวจสอบทันที หรือโทรไปที่ 1362 สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล ได้ตลอด 24 ชั่วโมง “ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวทิ้งท้าย”