สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 4 ก.ค 67 เวลา 9.00 น.

1.สภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศลาวตอนบน ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

คาดการณ์ : วันที่ 5 – 7 ก.ค. 67 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีฝนตกหนักมากในบริเวณภาคเหนือ

2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 49% ของความจุเก็บกัก (39,770 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 27% (15,607 ล้าน ลบ.ม.) การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่งภาคเหนือ : ภูมิพลและสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ ภาคตะวันตก: ปราณบุรี

3. คุณภาพน้ำ : น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร
– แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
– แม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
– แม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคาง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

4. ประกาศแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ : สทนช. แจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 3 – 8 ก.ค. 67 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนาม ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ต้องเฝ้าระวังบริเวณพื้นที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขัง ได้แก่
– ภาคเหนือ จ.ตาก สุโขทัย น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ และนครพนม
– ภาคตะวันออก จ.ระยอง จันทบุรี และตราด
– ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต ตรัง ยะลา และนราธิวาส

5. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : วานนี้ (3 ก.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผลการประชุมโดยสรุปว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ทั้งเรื่องการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการดำเนินการตามแผนงานโครงการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนทั้งชีวิตและทรัพย์สิน สำหรับการเตรียมพร้อมในช่วงฤดูฝนนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รวมทั้งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะมาตรการในเรื่องของการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุและการตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย โดยได้สั่งการให้มีการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าและสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 10 ก.ค. 67 นี้

6. สถานการณ์อุทกภัย : เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 67 เกิดสถานการณ์น้ำท่วม เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่ 2 จ. ได้แก่
จ.หนองคาย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว อยู่ระหว่างการให้ความช่วยเหลือ และ จ.ร้อยเอ็ด ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ