กรม สบส. ชูผลงาน “สายรู้ สายลับ” เกราะคุ้มภัยผู้บริโภคด้านสุขภาพชาวไผ่ล้อม จ.นครพนม

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ชูผลงาน “สายรู้ สายลับ” ของอสม.วิฑูรย์ แก้วแก่นสร้างเกราะป้องกันคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ต.ไผ่ล้อม อ.บ้านแพง จ.นครพนม เฝ้าระวังและตรวจตราผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตรายต่อชุมชนเพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ และให้ประชาชนสามารถตัดสินใจเลือกบริโภคและรับบริการที่ถูกต้อง ปลอดภัยได้

นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปัจจุบันพบว่าในหลายพื้นที่ มีการจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง และมีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ทำให้ประชาชนเกิดความหลงเชื่อ ซื้อมาบริโภคจนเกิดอันตรายต่อสุขภาพ โดย อสม. ในแต่ละพื้นที่นั้นได้มีวิธีการต่างๆ ในการสร้างเกราะป้องกันคุ้มครองผู้บริโภคที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งถือเป็นแกนนำในการสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกป้องสิทธิ และจัดการแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชน

กระทรวงสาธารณสุขได้เห็นความสำคัญจึงได้มีการคัดเลือกเชิดชูอสม. ที่มีผลงานดีเด่นระดับชาติ สาขาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพเรื่อยมานั้น ในปี 2562 ผู้ที่ได้รับรางวัลดังกล่าวได้แก่ อสม.วิฑูรย์ แก้วแก่น อันมีผลงานเด่นคือ “สายรู้ สายลับ” ซึ่งเป็นการสร้างเกราะป้องกันคุ้มครองสุขภาพ โดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านร่วมเป็นจิตอาสาในการทำงานในรูปแบบของเครือข่าย มีการอบรมให้ความรู้เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ แบ่งการทำงานเป็น 2 เครือข่าย ได้แก่เครือข่ายสายรู้ คือกลุ่มนักเรียน กลุ่มสรภัณฑ์ และกลุ่มรถโมบายคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อประชาชนทำหน้าที่ร่วมกับชมรมคุ้มครองผู้บริโภคออกประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลภัยสุขภาพต่างๆ และคำแนะนำในการให้ความรู้แก่นักเรียนในสถานศึกษา กลุ่มผู้ที่ถือศีล และงานบุญต่างๆ ยกเว้นงานศพ เพื่อให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อการโฆษณาชวนเชื่อรวมถึงรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน โดยมีประชาชนที่สามารถเข้าถึงและได้รับฟัง จำนวน 260 คนส่วนเครือข่ายสายลับ คือประชาชนทั่วไป ทำหน้าที่สุ่มตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพ สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายในสถานศึกษา และชุมชน เช่น ร้านชำ รถเร่ รถพุ่มพวงในชุมชนทุกสัปดาห์ หากพบร้านค้าขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จะดำเนินการแจ้งชมรมคุ้มครองผู้บริโภคทันทีโดยผู้ประกอบการจะต้องแก้ไขภายใน 1 สัปดาห์ และห้ามจำหน่ายสินค้าดังกล่าวต่อไป

ผลจากการดำเนินงานของเครือข่ายสายลับที่สุ่มตรวจสินค้าในร้านชำในชุมชน (ระหว่างเดือน ต.ค. 60 – ก.ย. 61)พบว่า การจำหน่ายขนมที่ไม่มี อย. และฉลาก จำนวน 10 ครั้ง อาหารหมดอายุ 6 ครั้ง ขนมเสื่อมสภาพ 4 ครั้ง จากการดำเนินงานพบว่าประชาชนในชุมชนสามารถตัดสินใจในการรับบริการด้านสุขภาพ การบริโภคผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยต่อสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน