“ส้มสายน้ำผึ้งฝาง” สินค้า GI ตัวใหม่จังหวัดเชียงใหม่ รสชาติหวานอมเปรี้ยว กลิ่นหอม สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้ชุมชนกว่า 270 ล้านบาท

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI รายการใหม่ “ส้มสายน้ำผึ้งฝาง” สินค้าขึ้นชื่อจังหวัดเชียงใหม่ สีผลเหลืองอมส้ม รสชาติหวานอมเปรี้ยว และมีอัตลักษณ์ชัดเจน ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง สร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 270 ล้านบาทต่อปี

นางสาวกนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สิน ทางปัญญา มีนโยบายสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง โดยการยกระดับสินค้าท้องถิ่นผ่านการขึ้นทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อการคุ้มครองสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในแต่ละท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับสินค้า อีกทั้งยังเป็นการควบคุมคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ส้มสายน้ำผึ้งฝาง” สินค้า GI ลำดับที่ 5 ของจังหวัดเชียงใหม่ ต่อจากผ้าตีนจกแม่แจ่ม ร่มบ่อสร้าง ศิลาดลเชียงใหม่ และกาแฟเทพเสด็จ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไปก่อนหน้านี้

“ส้มสายน้ำผึ้งฝาง” มีแหล่งกำเนิดเดิมอยู่ที่จังหวัดยะลา เรียกว่า “ส้มพันธุ์โชกุน” ได้ถูกนำมาเพาะปลูกในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ หลายสาย ได้แก่ แม่น้ำฝาง ลำห้วยแม่ใจ ลำน้ำแม่มาว ลำน้ำแม่เผอะ เขื่อนแม่มาว เขื่อนบ้านห้วยบอน ห้วยแม่งอน เป็นต้น รวมไปถึงยังมีน้ำพุร้อนซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น้ำอุณหภูมิสูงไหลพุ่งจากใต้ดินขึ้นสู่อากาศ ทำให้สภาพดินอุดมไปด้วยแร่ธาตุเหมาะสมต่อการเพาะปลูกส้มสายน้ำผึ้ง ด้วยแหล่งภูมิศาสตร์นี้ ทำให้ส้มสายน้ำผึ้งฝางสามารถเติบโตได้ดี มีผิวสีเขียวอมเหลือง เขียวอมส้ม มันวาว เนื้อกุ้งฉ่ำแน่น ชานและใยนุ่ม รสชาติหวานอมเปรี้ยว กลิ่นหอม มีอัตลักษณ์ชัดเจนแตกต่างจากส้มสายน้ำผึ้งจากแหล่งปลูกอื่น หากเก็บเกี่ยว ในช่วงฤดูหนาว ส้มสายน้ำผึ้งฝางจะมีผิวสีเหลืองอมส้ม มีความโดดเด่น จึงได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการ ของตลาดอย่างมากในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีน อีกทั้งหน่วยงานในพื้นที่ยังให้การสนับสนุน ยกให้ส้มสายน้ำผึ้งฝางเป็นของดีจังหวัดเชียงใหม่ สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับชุมชนให้พื้นที่กว่า 270 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาขอเชิญทุกท่านร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการ GI และอุดหนุนสินค้า GI ไทย โดยติดตามข้อมูลสินค้า GI รายการต่างๆ และข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องได้ที่ เพจ Facebook : GI Thailand หรือสอบถามเพิ่มเติมโทรสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา 1368