กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เตรียมขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนศึกษา โรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2567 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดขอนแก่น ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น สิบตำรวจโทวิญญา พิทักษ์ชาติ ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่นเป็นประธานในพิธีเปิดประชุมเตรียมความพร้อมบุคลากรทางการศึกษาเพื่อดำเนินการตามโครงการ “การศึกษาผลสัมฤทธิ์ของการนำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษา” ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และนายธีรยุทธ แก้วสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมฯ และแลกเปลี่ยนประเด็นการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชน ในสถานศึกษา ทบทวนและให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน โดยมี ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ครูผู้สอน อาทิ โรงเรียนขอนแก่นพัฒนศึกษา โรงเรียนโคกสีพิทยาสรรพ์ โรงเรียนเทศบาลบ้านสามเหลี่ยม โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนทัน โรงเรียนเทศบาลบ้านตูม โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐาน โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง และศึกษานิเทศน์ ในสังกัดสำนักการศึกษาเทศบาลขอนแก่น เข้าร่วมการประชุม ทั้งนี้ มีนางสาวธัญทิพย์ ยศกฤตวิทย์สกุล ผู้อำนวยการสำนักงานยุติธรรมจังหวัดขอนแก่น และเจ้าหน้าที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่กลุ่มงานพัฒนาระบบส่งเสริมและป้องกัน กองส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ เป็นผู้ดำเนินการจัดการประชุมในครั้งนี้

สำหรับการจัดประชุมฯ ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาทั้ง 5 ช่วงชั้น ได้แก่ ปฐมวัย ประถมศึกษาตอนต้น ประถมศึกษาตอนปลาย มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ จะนำคู่มือการจัดการเรียนรู้ ไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียนแต่ละช่วงชั้น ตามเป้าหมายของการศึกษาวิจัยในโครงการ “การศึกษาผลสัมฤทธิ์ของการนำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาไปประยุกต์ใช้ในสถานศึกษา” เริ่มตั้งแต่ ภาคการเรียนที่ 1 ในปีการศึกษา 2567 และจะติดตามประเมินผลเมื่อสิ้นสุดแต่ละภาคการศึกษา ต่อเนื่องจนถึงปี 2570 ซึ่งกระบวนการจัดการเรียนรู้จากโครงการวิจัยนี้ เป้าหมายผลลัพธ์ เป็นการส่งเสริมให้เยาวชน มีความตระหนักและเคารพต่อเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ และสิทธิมนุษยชน อันจะไปสู่การลดการละเมิดสิทธิของผู้อื่น และลดการละเมิดตามกฎหมาย ตลอดจนนำผลการศึกษาวิจัย มาสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการบรรจุหลักสูตรหรือวิชาสิทธิมนุษยชนศึกษา ในระบบการศึกษา ต่อไป