ก.แรงงาน ร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ โหวตเลือกเจ้าภาพ WorldSkills ครั้งที่ 47

ก.แรงงาน ร่วมแชร์ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ด้านพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ในการประชุม องค์การการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ พร้อมโหวตหาเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งที่ 47

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2562 นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ องค์การการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ (General Assembly Meeting) ร่วมกับประเทศสมาชิก 68 ประเทศเพื่อโหวตเลือกเจ้าภาพจัดการแข่งขัน WorldSkills ครั้งที่ 47 ที่จะจัดขึ้นใน 4 ปีข้างหน้า

โดย นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังเข้าร่วมการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้ มีจุดประสงค์ที่จะกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานขององค์กร ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 82 ประเทศ โดยผู้แทนทางการ (Official Delegate) ของแต่ละประเทศ จะร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ของ WorldSkills International ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเยาวชนระหว่างประเทศ รวมถึงให้คำแนะนำและแก้ไขปัญหาของทุกทีมระหว่างการแข่งขัน โดยที่ประชุมได้ลงมติรับรองให้ประเทศโปแลนด์ เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 80 กาน่าเป็นสมาชิกลำดับที่ 81 และประเทศอูกันดา เป็นสมาชิกในลำดับที่ 82

นอกจากนี้ ยังมีการโหวตคัดเลือกประเทศสมาชิก ที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 47 (WorldSkills Competition 2023)  ในอีก 4 ปีข้างหน้า  ต่อจาก ครั้งที่ 46 ที่จะจัดขึ้นที่เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 2021 โดยครั้งนี้ มีประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน 2 ประเทศคือประเทศฝรั่งเศสและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผลการโหวตปรากฏว่าประเทศฝรั่งเศสได้รับคะแนนเสียงจากประเทศสมาชิก 64 ประเทศ ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 47 ในอีก 4 ปีข้างหน้า ภายใต้ชื่อ WorldSkills Lyon 2023

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเสริมว่า การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน WorldSkills  จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในสาขาอาชีพนั้นๆ และแนะนำทักษะวิชาชีพในอนาคต (Future Skills) ให้แก่ผู้ร่วมงาน สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับเยาวชนในประเทศเพื่อรองรับงานในอนาคต ดึงเยาวชนให้หันเข้าสู่ระบบอาชีวศึกษามากขึ้น เปิดโอกาสให้ประเทศเจ้าภาพได้แสดงความพร้อมและศักยภาพในการรองรับงานระดับนานาชาติ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นตัวชี้วัดผลลัพธ์ทางการศึกษาและเทียบเคียงมาตรฐานการปฏิบัติงานของแต่ละประเทศ โดยอิงกับข้อกำหนดมาตรฐานของ WorldSkills เปิดโอกาสให้หน่วยงานด้านการศึกษาของแต่ละประเทศ ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีกับผู้แทนภาคอุตสาหกรรม ผ่านคณะอนุกรรมการ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ

คาดว่า เยาวชนไทย ที่เข้าร่วมแข่งขัน จะแสดงทักษะความชำนาญที่ได้จากการฝึกซ้อมและแข่งขันที่ผ่านมาเพื่อแสดงให้นานาประเทศประจักษ์ในความสามารถ โดยกลุ่มสาขาอาชีพที่เยาวชนไทยทำผลงานได้ดี ได้แก่ กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิต และงานบริการส่วนบุคคลและสังคม เชื่อว่าประสบการณ์ที่ได้รับ เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานในแต่ละสาขาอาชีพ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในการศึกษาและฝึกอบรมด้านอาชีพให้มีประสิทธิภาพ ทันต่อเทคโนโลยีและได้มาตรฐานทัดเทียมนานาประเทศ รวมถึงได้เห็นทิศทางของเทคโนโลยีและอาชีพที่เป็นที่ต้องการในอนาคต

“ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ยังเตรียมการ วางแผนเพื่อจัดส่งเยาวชนเข้าแข่งในสาขาใหม่ๆ เช่น สาขาการออกแบบเกมสามมิติ (3D Digital Game Art), สาขาการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย (Health and Social Care) เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ, สาขาผู้ขนส่งสินค้า (Freight Forwarding), สาขาซ่อมบำรุงตัวถังรถยนต์ (Autobody Repair) ซึ่งสอดรับกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต” นายสุทธิ กล่าวทิ้งท้าย