รมว.ทส. รับ 9 ข้อเสนอ สมัชชาฯ สิ่งแวดล้อม ร่วมขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อโลกของเรา เพื่อเรา และลูกหลานของเรา

วันที่ 21 ส.ค. 62 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานเปิดการประชุมสมัชชาเครือข่ายองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ “ทำวันนี้ทันที เพื่อโลกของเรา เพื่อเราทุกคน” ซึ่งจัดขึ้น โดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ร่วมกับ สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) ณ โรงแรมไมด้า ดอนเมือง แอร์พอร์ต กทม. พร้อมรับ 9 ข้อเสนอ ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ของสมัชชา

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีนโยบายชัดเจนในการให้ความสำคัญกับภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครือข่าย NGOs องค์กรชุมชน และเครือข่าย ทสม. ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สำเร็จลงได้ เพราะถึงแม้ว่าส่วนราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีนโยบาย หรือแผนงบประมาณในการดำเนินงาน แต่สิ่งที่ทำเปรียบเสมือนการตบมือข้างเดียว        จึงจำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และที่ผ่านมา สมัชชาเครือข่ายองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) จึงเป็นเสมือนพลังสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบาย          ทั้ง 4 ด้าน ของกระทรวงฯ ให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี ทั้ง ด้านทรัพยากรน้ำ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และ การบริหารจัดการ ที่มีความสอดคล้องกับ 9 ข้อเสนอ ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ในวันนี้

ด้าน นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธาน สคส. กล่าวเสริมว่า แผนงานความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม  ที่นำเสนอ 9 ข้อ ประกอบด้วย

1. ปัญหาขยะบกและขยะทะเล เสนอให้เร่งรัดการดำเนินงาน “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” แล้วเสร็จ ภายในปี ๒๕๖๔ เพิ่มรายการยกเลิกผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง มีระบบภาษีการกำจัดขยะตามประเภทและจำนวนบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ส่งเสริมบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ และพัฒนาความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ มุ่งสู่สังคมปลอดโฟมและพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ฯลฯ

2. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขับเคลื่อนสังคมไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เสนอให้ปรับเป้าหมายการลดคาร์บอนของประเทศ และการมีมติ ครม. ขับเคลื่อนสังคมไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ มีมาตรการทางภาษี สร้างแรงจูงใจ ส่งเสริมการลงทุน ให้ภาคเอกชนและครัวเรือน ผลิตไฟฟ้าใช้เอง ฯลฯ

3. ปัญหาหมอกควันและฝุ่นพิษ เสนอให้ต่อยอดและขยายผลชุมชนต้นแบบภาคเหนือ มีแผนและมาตรการชัดเจนในการปรับเปลี่ยนการใช้ถ่านหินและพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด ควบคุมและลดควันเสียจากรถ พัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหาหมอกควันฝุ่นพิษ ฯลฯ

4. พื้นที่ชุ่มน้ำและแม่น้ำ เสนอให้มีแผนงานและมาตรการคุ้มครอง อนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำและแม่น้ำ ส่งเสริมให้ชุมชนและ อปท. จัดทำข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองและอนุรักษ์ฟื้นฟูฯ พัฒนาองค์ความรู้และเศรษฐกิจชุมชนบนฐานทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน ฯลฯ

5. ชุมชน คนอยู่กับป่า เสนอให้มีนโยบายและมาตรการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศน์บกและชายฝั่ง ทำแผนบริหารจัดการระบบนิเวศชุมชน ปรับปรุง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ฯลฯ

6. ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เสนอให้พัฒนามาตรการรับรองสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีแผนบริหารจัดการร่วมระหว่างชุมชนและอุทยานแห่งชาติ รวมทั้งแผนบริหารจัดการและอนุรักษ์ฟื้นฟูฯ ระดับจังหวัด ตลอดจนประกาศมาตรการคุ้มครองทางทะเลและชายฝั่งครอบคลุมพื้นที่สำคัญทางทะเล ฯลฯ

7. คนกับช้าง และแผนพะยูน เสนอให้จัดทำแผนงานระดับพื้นที่ในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง จัดสรรงบประมาณบรรเทาหรือเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของช้าง มีแผนงานพะยูนในทุกจังหวัดชายฝั่งทะเลที่มีพะยูนและแผนระดับประเทศ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนชายฝั่งที่ทำหน้าที่การอนุรักษ์ ฯลฯ

8. การทบทวนและกำหนดแหล่งหินอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับกฎหมายแร่ เสนอให้มีการสำรวจและกำหนดแหล่งหินอุตสาหกรรมใหม่ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชน ปลอดจากอิทธิพลของผู้ประกอบการ

9. กลไกความร่วมมือเพื่อการขับเคลื่อนงาน เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้บรรลุตามเป้าหมาย

ด้าน นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) มากกว่า  20 ปี ในการขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้อยู่บนหลักธรรมาภิบาล สิทธิชุมชน ละสิทธิในการพัฒนา ด้วยตระหนักดีว่า การขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่อาจสำเร็จได้ด้วยรัฐเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น ในทุกๆ ปี จึงจัดให้มีการประชุมสมัชชาเครือข่ายองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติขึ้น เพื่อสรุปบทเรียนการทำงานและประเมินความก้าวหน้าการดำเนินงานของสมาชิก ติดตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคม รวมทั้งการหารือแนวทางการพัฒนาภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อการแสวงหาทางออกที่ดีร่วมกัน

สำหรับการประชุมสมัชชาฯ “ทำวันนี้ทันที เพื่อโลกของเรา เพื่อเราทุกคน” ในครั้งนี้ จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 19 – 21 ส.ค. 2562 ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย สมาชิกสมัชชาฯ หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม และนักวิชาการ รวม 300 คน รูปแบบการประชุม มีทั้งการเสวนา การอภิปราย นิทรรศการ และการสัมมนากลุ่มย่อย ใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1. การพัฒนาที่ยั่งยืน การมีส่วนร่วมของประชาชน และสิทธิในการพัฒนา 2. การยุติปัญหาขยะและขยะทะเล ก้าวสู่สังคมสีเขียว 3. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  “ถึงเวลาช่วยกัน ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส” และ 4. ปัญหาหมอกควันและฝุ่นพิษ

 

*****************************