พาณิชย์’ รับมือสังคมผู้สูงอายุ…เร่งพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ เจาะตลาดวัยเกษียณทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ หวังดันไทยเป็นศูนย์กลางด้าน Home Care

กระทรวงพาณิชย์ รองรับสังคมผู้สูงอายุ เร่งพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ สร้างความเป็นเลิศแก่ธุรกิจด้านการบริการ ยกระดับธุรกิจดูแลผู้สูงอายุของไทยให้เป็นที่ยอมรับ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน…เจาะตลาดเอาใจวัยเกษียณจากทั่วโลก หวังดันไทยเป็นศูนย์กลางด้าน Home Care ของภูมิภาค เพื่อดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุให้สามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการตลาด การบริหารทรัพยากรบุคคล การบริหารจัดการความเสี่ยงในธุรกิจ การบริหารภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย การจัดทำแผนการเงิน การวางแผนเชิงกลยุทธ์ และการสร้างโมเดลธุรกิจ เพื่อยกระดับให้ธุรกิจเป็นที่เชื่อถือและยอมรับจากผู้ใช้บริการในประเทศและระดับสากล รองรับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังเกิดขึ้นและจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ รวมถึงเป็นช่องทางในการสร้างโอกาสทางการตลาด และมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศด้วย

เบื้องต้นให้เร่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุให้ได้มาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุมีองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจในเชิงลึกและสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ โดยจัดอบรมหลักสูตร “ปฏิบัติการพิชิตธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ” ระหว่างวันที่ 20 – 22 สิงหาคม 2562 รวมทั้งสิ้น 3 วัน (18 ชั่วโมง) ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งมีหน่วยงานร่วมสนับสนุน คือกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย และสมาคมผู้ดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ องค์กรภาคเอกชนชั้นนำในด้านธุรกิจดูแลผู้สูงอายุมาร่วมถ่ายทอดความรู้ อาทิ การบริหารจัดการแบบลีน (Lean Management) การบริหารจัดการความเสี่ยงในธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ การบัญชีและภาษีอากรสำหรับผู้บริหาร กฎหมายที่เกี่ยวข้องในธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ

จากอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วของประชากรผู้สูงอายุทั่วโลก รวมถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลงและอายุขัยของประชากรในประเทศเพิ่มขึ้น

ประเทศไทยนับเป็นจุดหมายปลายทางของคนสูงวัยจากทั่วโลกที่ต้องการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว พักผ่อน หรือใช้ชีวิตยามบั้นปลาย นับเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในการสร้างธุรกิจ เพื่อรองรับความต้องการ (Demand) ของประชากรผู้สูงอายุจากทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ถือเป็นโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ของผู้ประกอบการที่ต้องตีโจทย์ให้แตกว่าธุรกิจหรือสินค้าประเภทไหนที่เจาะตลาดกลุ่มนี้ได้ เพื่อรองรับความต้องการจำนวนมาก

ด้วยศักยภาพการเติบโตในระยะยาว ผู้ประกอบธุรกิจไทยควรเริ่มติดตามและทำความเข้าใจการเปลี่ยนไปของโครงสร้างและพฤติกรรมของสังคมผู้สูงอายุเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร การหากิจกรรมที่เหมาะสม การก่อสร้างที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องการคนดูแลช่วยเหลือ รวมถึงสถานที่ตั้งของธุรกิจควรจะตั้งอยู่ใกล้สถานพยาบาล เพื่อความรวดเร็วในการเดินทางของผู้สูงอายุในกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ ควรหาพันธมิตรทางธุรกิจ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เข้ามาช่วยสนับสนุนการให้บริการด้านสุขภาพซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย เพื่อเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันในระดับสากล

ทั้งนี้ การดูแลผู้สูงอายุเป็นงานบริการที่ต้องใช้ความอดทน ความเข้าใจ ต้องมีความรู้ด้านการพยาบาล หรือผู้ช่วยพยาบาล ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ จึงทำให้บุคลากรด้านการดูแลผู้สูงอายุขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุจึงมีความน่าสนใจและยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในระยะยาว รมช. กล่าวสรุป

ปัจจุบัน ผู้มีประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย จำนวนประมาณ 800 ราย แบ่งเป็นนิติบุคคล จำนวน 273 ราย คิดเป็น ร้อยละ 34.125 และบุคคลธรรมดา จำนวน 527 ราย คิดเป็น ร้อยละ 65.875

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนพัฒนาธุรกิจบริการ กองธุรกิจบริการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าโทรศัพท์หมายเลข 0 2547 5962 สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th

 

********************************

ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า