กรมการแพทย์แผนไทยฯพร้อมติดอาวุธทางการตลาด ผู้ประกอบการสมุนไพรสู่การตลาดสมุนไพรดิจิตอล

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เตรียมจัดทำตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพรออนไลน์ เพื่อตอบสนองความต้องการของวัตถุดิบสมุนไพรที่มีมาตรฐาน เพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพ    ปลอดภัย และมีประสิทธิผล

นพ.เกียรติภูมิ  วงศ์รจิต  อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวภายหลังจากพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กับ บริษัท ทิปโก้ไบโอเท็ค จำกัด       ในเรื่อง “ความร่วมมือในการจัดทำตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพรออนไลน์” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร มีโอกาสทางการตลาดมากยิ่งขึ้น  สร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบสมุนไพรเพื่อใช้ในการวางแผนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในอนาคตอันจะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนรู้จัก เชื่อมั่น ชอบและใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีมาตรฐานของประเทศ

การพัฒนาด้านศักยภาพ และเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการด้านสมุนไพร เป็นหนึ่งในโครงการของการขับเคลื่อนแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 ภายใต้วิสัยทัศน์ “สมุนไพรไทยเพื่อความมั่นคงทางสุขภาพ และความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย” สมุนไพรไทย เป็นทรัพยากรเชิงพันธุกรรม และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ โดยการวิจัย พัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการสร้างมูลค่าด้วยความพร้อมทางด้านต้นทุนการผลิต รวมถึงความหลากหลายของผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร เช่น ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เวชสำอาง เครื่องใช้ส่วนบุคคล ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ และโอกาสของช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ  จึงทำให้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร มีบทบาทในชีวิตประจำวัน และเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศ

ปัจจุบันมีการวางแนวทาง Samunprai Thai Roadmap 20 ปี ภายใต้แนวคิด Thailand 4.0 ซึ่งวางแนวทางกันไว้ถึงสถานการณ์ในอนาคตภายใต้แนวคิดว่าอีก 20 ปี ประเทศไทยจะเป็น World Herb Hub  ซึ่งใน 5 ปีแรก จะเป็นการวางพื้นฐานภายในเชิงระบบ (Boosting Domestic Market) โดยต้องทำการเชื่อมโยงข้อมูลสมุนไพรทั้งระบบ รวมถึงสร้างความเข้มเข็งจากพื้นที่ (Herbal city) ต่อมาคือ เป้าหมาย 10 ปี ประเทศไทยจะเป็น Leader of ASEAN ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาและผลักดันด้านนวัตกรรมต่าง ๆ (Innovative) รวมถึงด้านการตลาดและการสร้างเรื่องราวทางวัฒนธรรม (Marketing/Cultural Story) ต่อมาในระยะ 15 ปี ประเทศไทยจะกลายเป็น Top 5 of Asia ซึ่งจะต้องพัฒนาและผลักดันในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านการตลาด (Marketing) รวมถึงคุณภาพ และมาตรฐาน (Quality & Standard) และ 20 ปี ประเทศไทยจะเป็น World Herb Hub อันจะมีมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพร 1.21 – 2.95 ล้านล้านบาท

จากแนวทางดังกล่าว กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงได้ผนึกกำลังตามรูปแบบประชารัฐ  จัดประชุมผู้ประกอบการด้านสมุนไพรที่ได้รับการคัดเลือกผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ (Premium  Product) ของปี    พ.ศ.2559 – 2560 รวมแล้วมากกว่า 60 บริษัท โดยมีนักการตลาด องค์กรด้านการเงินและการลงทุน รวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน  เพื่อเสริมศักยภาพทางด้านการตลาดโดยใช้เทคโนโลยีดิจิตอล  สุดท้ายจะนำไปสู่เป้าหมาย คือ การที่ประเทศไทยจะมีระบบสุขภาพด้วยภูมิปัญญา สมุนไพรที่มีมาตรฐาน ทำให้สมุนไพรไทยไปไกลสู่สากลมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น