สทนช.เกาะติดสถานการณ์น้ำเค็มรุกบางพื้นที่ฉะเชิงเทรา-สมุทรปราการ บูรณาการหน่วยเฉพาะกิจฯ เร่งคืนน้ำสะอาดสู่คน พืช สัตว์น้ำโดยเร็ว

หน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำ ฯ ภายใต้ สทนช.ระดมหน่วยงานภาครัฐแก้วิกฤตน้ำเค็มรุกล้ำเข้าเขต 3 อำเภอในฉะเชิงเทรา และ อ.บางบ่อ สมุทรปราการ เร่งสูบไล่น้ำเค็มออกจากพื้นที่ พร้อมปรับเพิ่มปริมาณผันน้ำช่วยเจือจาง ส่งผลค่าความเค็มในพื้นที่มีแนวโน้มลดลง ระดมรถน้ำแจกจ่ายน้ำจืดอุปโภคบริโภคและการประมงให้ทั้ง 2 จังหวัดแล้วมากกว่า 3 พันครัวเรือน ย้ำติดตามสถานการณ์บรรเทาเหตุวิกฤตใกล้ชิด เพื่อคืนสภาวะน้ำปกติสู่ประชาชนและเกษตรกรโดยเร็วที่สุด

วันที่ 21 เมษายน 2567 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ประชุมหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 3/2567 ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองพระองค์ไชยยานุชิต จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมเปิดเผยว่า หน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤต ภายใต้การจัดตั้งของ สทนช. ได้บูรณาการทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ กรณีน้ำเค็มจากแม่น้ำบางปะกงไหลรุกล้ำเข้าในคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขา ทำให้น้ำเค็มกระจายตัวเข้าพื้นที่อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อ.บ้านโพธิ์ อ.บางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ส่งผลต่อคุณภาพน้ำที่ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ใช้อุปโภคบริโภค ทำการเกษตรเป็นวงกว้าง

ในการบูรณาการหน่วยงานเพื่อปฏิบัติการเร่งแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำและปัญหาคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำบางปะกง ขณะนี้กรมชลประทานได้ดำเนินระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำ (ปตร.) พระนารายณ์ในปริมาณ 75 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)ต่อวินาที ประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล จ.ตาก จากวันละ 23 ล้านลบ.ม. เป็นวันละ 28 ล้าน ลบ.ม.ผ่านลงมาทางคลองระพีพัฒน์ และคณะกรรมการลุ่มน้ำป่าสักมีมติเห็นชอบให้ผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์สู่ลุ่มบางปะกงวันละ 2 ล้าน ลบ.ม. ช่วยบรรเทาผลกระทบ ทำให้สามารถเพิ่มอัตราการระบายน้ำที่บึงฝรั่งลงสู่คลองประเวศ ฯ และสาขาได้ในอัตรา 25 ลบ.ม.ต่อวินาที นอกจากนี้ยังได้รับน้ำเพื่อช่วยเจือจางความเค็มในพื้นที่ฉะเชิงเทรา จากเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณ 15 ล้านลบ.ม. ผ่านทางแม่น้ำนครนายกด้วย ทั้งนี้ได้กำชับหน่วยงานให้การส่งน้ำเป็นไปตามแผนมากที่สุด และต้องสูญเสียน้ำระหว่างทางให้น้อยที่สุดเพื่อใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในช่วงที่ยังอยู่ในฤดูแล้ง และขณะนี้มีน้ำคงเหลือในแต่ละอ่างในปริมาณที่น้อยอยู่แล้ว

เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้ขอให้จังหวัดฉะเชิงเทรา กรมชลประทาน และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระดมกำลังเร่งเก็บซากผักตบชวาที่เน่าเสียในคลอง พร้อมไปกับการเร่งสูบและผลักดันน้ำเค็มออกสู่คลองชายทะเล จากผลดำเนินการส่งผลให้ค่าความเค็มและมลภาวะทางน้ำในพื้นที่มีแนวโน้มลดลง จากผลตรวจวัดคุณภาพน้ำโดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่าค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว 3 จุด ได้แก่ บริเวณปากคลองเจ้าศาลาแดง บริเวณคลองพระองค์ไชยยานุชิตตัดคลองแสนแสบ และสี่แยกคลองพระองค์ฯ ตัดคลองประเวศฯ มีค่าความเค็ม 0.16 0.13 และ 0.85 กรัมต่อลิตรตามลำดับ และค่าออกซิเจนละลายน้ำ (DO) ก็เพิ่มขึ้นด้วย แต่ยังคงมีจุดที่ค่าความเค็มสูงอีกสองแห่ง ได้แก่ คลองพระยาสมุทร คลองพระยานาคราช ซึ่งวันนี้ สทนช. และหน่วยงานก็ได้ลงไปดูสภาพพื้นที่เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อเจือจางน้ำเค็มนจุดวิกฤติทั้งสองจุดโดยเร็วต่อไป

นอกจากนี้ ในเรื่องของการเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค ปภ. ฯ นำรถบรรทุกน้ำจืดแจกจ่ายให้ราษฎรแล้วกว่า 1 ล้านลิตร ส่งผลให้ประชาชนทั้ง 4 อำเภอใน 2 จังหวัดไม่ได้รับผลกระทบด้านน้ำอุปโภค-บริโภค ด้านเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาทิ ปลากะพง ปลาสลิด กุ้งขาวได้ขอให้กรมประมงเร่งทำแผนกำหนดคุณภาพน้ำให้เหมาะสมกับการประมงในแต่ละคลอง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาปล่อยน้ำมี่เจือจางแล้วให้เกษตรกรนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย ด้านความความช่วยเหลือภาคเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอสนับสนุนฟางก้อนเพื่อคลุมโคนต้นพืชเพื่อลดการสูญเสียความชื้นจากหน้าดิน ร่วมกับการสนับสนุนน้ำจืดให้เกษตรกร อย่างไรก็ดี นาข้าวในพื้นที่ส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวแล้วจึงไม่มีพื้นที่นาได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์นี้ และกรมพัฒนาที่ดินได้ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานและเกษตรกรให้ช่วยกันเก็บซากพืชและสัตว์ที่เน่าเสียในน้ำเพื่อลดมลพิษทางน้ำ และได้นำสารเร่งซุปเปอร์ พด.6 เข้าบำบัดน้ำเสียวันละ 10,000 ลิตรด้วยอีกทางหนึ่ง

“หน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำฯ ได้เร่งบูรณาการหน่วยราชการทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตอย่างเป็นเอกภาพ และคาดว่าจะนำสภาพน้ำปกติกลับคืนสู่ประชาชน เกษตรกรผู้ปลูกพืช และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำได้ภายใน 30 วัน อย่างไรก็ดี ในระยะถัดไปยังติดตามประสานงานเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงต้นฤดูฝนที่เกษตรกรจะเริ่มทำนา เพื่อเป็นการป้องกันผลผลิตเสียหายจะต้องมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำโดยละเอียด โดยจะฟื้นฟูคุณภาพน้ำให้เหมาะสมก่อนนำน้ำในคลองไปใช้เตรียมแปลง อย่างไรก็ดี จากคาดการณ์พบว่าปีนี้จะเกิดปรากฏการณ์ลานีญ่าที่ทำให้ฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งจะเป็นผลดีที่น้ำฝนจะช่วยชะล้างค่าความเค็มออกได้เร็วยิ่งขึ้น” ดร.สุรสีห์ กล่าวในตอนท้าย