สทนช. ลงนาม MOU ร่วมกับ วว. และ สสน. ผนึกกำลังพัฒนาผลผลิตเกษตร ผลิตภาพน้ำชุมชน สู่ระดับมาตรฐานสากล

สทนช. จับมือ วว. และ สสน. ลงบันทึกความเข้าใจ ร่วมกันบูรณาการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งเสริมสนับสนุนการบริหารทรัพยากรน้ำ พัฒนาและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร สู่การรับรองมาตรฐานสินค้าระดับสากล เพิ่มศักยภาพการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศอย่างยั่งยืน

วันที่ 29 มีนาคม 2567 ดร.สุรสีห์  กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ “การพัฒนาผลผลิตการเกษตรและผลิตภาพน้ำของชุมชน ยกระดับสู่การรับรองมาตรฐาน” ร่วมกับ นางสาวชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ นางรอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) โดยมี นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นางสาวอาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และนายณรงศักดิ์ พิมพ์พรรณชาติ นักบริหารนโยบายวิจัยและพัฒนา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จาก สทนช. วว. และ สสน. เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ณ ห้องบัญชาการ ชั้น 2 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เขตจตุจักร กรุงเทพฯ

การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง สทนช. วว. และ สสน. มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกษตรกรมีน้ำเพียงพอสำหรับทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่และวนเกษตร มีการรวมกลุ่มวางแผนการผลิตได้ตลอดปี พัฒนาศักยภาพเกษตรกรเรื่องการนำผลผลิตมาพัฒนาแปรรูป และยกระดับให้ได้การรับรองมาตรฐาน รวมไปถึงส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรน้ำ การพัฒนาและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และยกระดับสู่การรับรองมาตรฐานสินค้าผลผลิตทางการเกษตร

ด้าน ดร.สุรสีห์  กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจ “การพัฒนาผลผลิตการเกษตรและผลิตภาพน้ำของชุมชน ยกระดับสู่การรับรองมาตรฐาน” กับ วว. และ สสน. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรน้ำ การพัฒนาและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และการรับรองมาตรฐานสินค้าผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ที่ต้องการเพิ่มผลิตภาพของน้ำทั้งระบบ โดยการจัดหาน้ำและใช้น้ำอย่างประหยัด และสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้น้ำให้ทัดเทียมระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มผลิตภาพมูลค่าภาคเกษตร เนื่องจากในปัจจุบันภาคเกษตรยังมีความต้องการใช้น้ำในปริมาณมาก แต่สร้างมูลค่าได้น้อย ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรของชุมชน จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ โดยทาง สทนช. พร้อมที่จะสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนและเกษตรกรในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้มีความเพียงพอต่อการประกอบอาชีพในพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนบุคลากร เพื่อการพัฒนาโครงการร่วมกัน ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลด้านวิชาการ และการบริหารจัดการน้ำทุกระดับ และขอขอบคุณทั้งสองหน่วยงานเป็นอย่างยิ่ง ที่จะมาร่วมกันขับเคลื่อน การสร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำของประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป