‘อนุทิน’ เปิดประชุมสภาลูกเสือไทย 2567 ฝากขับเคลื่อนกิจการลูกเสือไทย ด้วยความรู้ความสามารถ จิตสาธารณะ และทันสมัย ย้ำการลูกเสือเป็นกิจกรรมของเด็ก แต่เป็นภารกิจของผู้ใหญ่

29 มีนาคม 2567/ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่สภานายกสภาลูกเสือไทย เป็นประธานการประชุมสภาลูกเสือไทย ประจำปี 2567 ภายใต้คำขวัญ  “ลูกเสือมุ่งประสานทำดีด้วยหัวใจ  เทิดไท้พระประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ” โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาลูกเสือไทย และผู้แทนองค์กรภาคีเครือข่าย จำนวน  250 คน ให้การต้อนรับ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ กล่าวรายงานว่า ในปีที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ได้ดำเนินกิจการลูกเสือตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 ข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ นโยบายรัฐบาล และนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้แนวทาง “ทำดี ทำได้ ทำทันที” เพื่อปลูกฝัง ฝึกฝนอบรม พัฒนาเยาวชนของชาติให้มีคุณภาพ ยึดมั่นในอุดมการณ์ของลูกเสือ มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ บำเพ็ญประโยชน์เพื่อช่วยเหลือชุมชนและสังคม อันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญในการส่งเสริมให้เยาวชนไทยเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของชาติต่อไปในอนาคต

รวมถึงบริหารกิจการลูกเสือให้เกิดประสิทธิภาพ สร้างความสัมพันธ์กับคณะลูกเสือนานาชาติ ซึ่งประสบความ สำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายทุกประการ โดยได้รับความร่วมมือจากสถานศึกษาทุกสังกัด องค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรภาคีเครือข่ายให้การส่งเสริมสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ลูกเสือและบุคลากรทางการลูกเสือ ยังได้น้อมนำโครงการลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน มุ่งประสานทำความดีด้วยหัวใจ มาเสริมสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง สร้างจิตบริการและจิตสาธารณะ บำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

สำหรับปีนี้ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำ (ร่าง) นโยบายและข้อเสนอแนะการพัฒนากิจการลูกเสือไทยและการจัดอภิปรายเยาวชนลูกเสือ Youth Forum ระหว่างวันที่ 30 – 31 มกราคม 2567 มีผู้แทนจากหน่วยงานทุกภาคส่วนตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 และผู้แทนเยาวชนลูกเสือเข้าร่วมประชุม โดยจะนำเสนอผลสรุปจากการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวในวันนี้ด้วย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้ทรงพระราชทาน “หลักสูตรลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน มุ่งประสานทำความดีด้วยหัวใจ เพื่อส่งเสริมให้ลูกเสือและบุคลากรทางการลูกเสือ ได้เสริมสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างต่อเนื่อง  นับเป็นโครงการที่ทรงคุณค่า สอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับ “ธรรมนูญของลูกเสือโลก” ที่ระบุว่าหลักการขับเคลื่อนลูกเสือ คือ ขบวนการการศึกษาสำหรับเยาวชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เป็นไปโดยสมัครใจไม่จำกัดเพศ ศาสนา และเชื้อชาติ มุ่งพัฒนาเยาวชน ให้บรรลุศักยภาพด้านร่างกาย จิตใจ ความรู้สึกทางสังคม และจิตวิญญาณที่เต็มเปี่ยม ในฐานะพลเมืองที่รับผิดชอบ และในฐานะสมาชิกของชุมชนในท้องถิ่นระดับประเทศ และระดับนานาชาติ

แนวคิดสำคัญในการพัฒนากิจการลูกเสือไทย คือ “การบูรณาการความรู้ทางวิชาการ กับอุดมการณ์การลูกเสือ หลักการการลูกเสือ และเจตนารมณ์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ ให้เกิดผลเชิงประจักษ์ในสังคม” พัฒนาหลักวิชาการที่สอดคล้องกับยุคสมัย ประยุกต์ใช้ได้จริง สามารถพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะทางสังคม ทักษะวิชาชีพ สำนึกการประกอบวิชาชีพ การดำรงชีพด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งที่ยั่งยืน และสร้างจิตวิญญาณแห่งความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ดังนั้น จึงขอนำนโยบายของสภาลูกเสือไทย ให้ทุกท่านได้ยึดถือปฏิบัติ ดังนี้

1. ขับเคลื่อนโครงการลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน เน้นให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพสังคมไทยร่วมกัน โดยใช้กระบวนการลูกเสือ

2. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชน และสนับสนุนการจัดตั้งสภาเยาวชนลูกเสือแห่งชาติ
สภาเยาวชนลูกเสือจังหวัดทุกจังหวัดในอนาคต เพื่อให้เยาวชนลูกเสือมีพื้นที่แสดงความคิดเห็น ความต้องการและความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ สอดคล้องกับนโยบายการมีส่วนร่วมของเยาวชนในระดับการตัดสินใจของลูกเสือโลก ภายใต้แนวคิด “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่สนับสนุน”

3. พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมลูกเสือทุกระดับ ทุกประเภท ให้ได้มาตรฐานตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ และสอดคล้องกับนโยบายหลักสูตรกิจกรรมเยาวชนลูกเสือโลก รวมทั้งกำหนดแนวทาง วิธีการจัดกิจกรรมลูกเสือให้เหมาะสมกับทุกระดับ และทุกประเภท

4. ผู้ใหญ่ในการลูกเสือต้องเป็นกำลังสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรทางการลูกเสือ และเครือข่ายให้ได้มาตรฐานและเกิดความเข้มแข็ง ปฏิบัติงานได้ทันต่อเหตุการณ์ ด้วยการทบทวนองค์ความรู้ สร้างประสบการณ์เพิ่มเติมอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง สอดคล้องกับ “นโยบายผู้ใหญ่ในการลูกเสือ” ของลูกเสือโลก

5. ดูแลความปลอดภัยจากการคุกคาม รวมถึงความปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ ในการดำเนินกิจกรรมลูกเสือ ทั้งการคุกคามทั้งจากผู้ใหญ่ และจากเยาวชนด้วยกัน ตาม “นโยบายความปลอดภัยจากการคุกคาม” ของลูกเสือโลก

6. พัฒนาและยกระดับค่ายลูกเสือและกิจการลูกเสือให้ได้มาตรฐานสากล ด้วยการสำรวจตรวจสอบค่ายลูกเสือทั่วประเทศ เพื่อทำการปรับปรุง และพัฒนาค่ายลูกเสือและกิจการลูกเสือ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จังหวัดละ 1 แห่ง

7. สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์ของลูกเสือ ด้วยการจัดให้มีระบบบริหารจัดการที่ดี มีระเบียบรองรับการปฏิบัติงานที่เป็นธรรม โปร่งใสตรวจสอบได้ รวมไปถึงการก่อตั้ง “ร้านลูกเสือ” (Scout Shop) เป็นกิจการที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าลูกเสือ และของที่ระลึก ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เพื่อหารายได้มาสนับสนุนการจัดกิจกรรมของลูกเสือ ดำเนินการโดยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ด้วยอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551

8. พัฒนาระบบ ระเบียบ วิธีการบริหารจัดการกิจการลูกเสือที่ดี มีคุณภาพ แบบมีส่วนร่วมตามหลักธรรมาภิบาลและให้เป็นไปตามธรรมนูญและนโยบายต่าง ๆ ขององค์การลูกเสือโลก

“ขอให้ท่านได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายด้วยความรู้ ความสามารถ จิตสาธารณะ และทำให้ กิจการลูกเสือไทย มีความทันสมัยอยู่เสมอ ตามคำกล่าวที่ว่า การลูกเสือเป็นกิจกรรมของเด็ก แต่เป็นภารกิจของผู้ใหญ่ นายอนุทิน กล่าวทิ้งท้าย