โรคตุ่มน้ำพองเพมฟิกอยด์

สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ชี้โรคตุ่มน้ำพองเพมฟิกอยด์เป็นโรคเรื้อรัง ใช้เวลาในการรักษานาน อาจมีช่วงที่โรคสงบและตุ่มน้ำเห่อ สามารถเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ และการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ รวมถึงการเสียเลือดจากแผลถลอก ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากติดเชื้อแทรกซ้อน พร้อมแนะวิธีการดูแลตัวเองและการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เป็นโรคตุ่มผิวหนังเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน มีผลให้ภูมิคุ้มกันไปทำลายโปรตีนที่ใช้ยึดระหว่างผิวหนังชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ ทำให้มีการแยกตัวระหว่างชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้เกิดเป็นตุ่มน้ำขึ้น เป็นโรคที่มีอุบัติการณ์น้อย อยู่ที่ 7-43 คนต่อประชากร 1 ล้านคนต่อปี พบในผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ สาเหตุที่เกิดภูมิคุ้มกันผิดปกตินั้น ยังไม่ทราบชัดเจน อาการแสดงของโรค คือ มีตุ่มน้ำขึ้นบริเวณผิวปกติหรือผิวที่มีรอยแดง ตุ่มน้ำจะเป็นตุ่มน้ำตึง ขึ้นตามผิวหนังได้ทุกตำแหน่ง แต่พบบ่อยบริเวณข้อพับ หน้าท้อง ต้นขา เมื่อตุ่มน้ำแตกจะกลายเป็นแผลถลอกและแผลตกสะเก็ด บางครั้งอาจมีลักษณะเป็นผื่นแดงเป็นปื้นคล้ายลมพิษ รอยโรคในช่องปากและเยื่อบุสามารถพบได้ประมาณ 10% ของผู้ป่วย การวินิจฉัยสามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกาย การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิและอิมมูนโนวิทยา และการตรวจเลือดทางระบบอิมมูนโนวิทยา

แพทย์หญิงปิ่นนรี ขัตติพัฒนาพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่าการรักษา ควรมีการทำแผลและเจาะตุ่มน้ำด้วยเทคนิคปราศจากเชื้อ และใช้ยาทาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ความเข้มข้นสูงได้ในกรณีรอยโรคไม่ติดเชื้อ หากรอยโรคมีจำนวนไม่มาก สามารถใช้ยาทาเพียงอย่างเดียวร่วมกับการดูแลตุ่มน้ำแผลอย่างถูกต้อง กรณีมีรอยโรคจำนวนมาก อาจใช้ยารับประทานในการรักษา โดยสามารถใช้ยารับประทานคอร์ติโคสเตียรอยด์ แต่ต้องพึงระวังผลข้างเคียงจากยาในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ ทำให้มีการทำยากลุ่มอื่นมาใช้ทดแทน เช่น ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม tetracycline ยา nicotinamide ยา dapsone เป็นต้น กรณีดื้อต่อการรักษาอาจจะใช้ยากดภูมิในการรักษา อย่างไรก็ตามควรระวังผลข้างเคียงในการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้สูงอายุ นอกจากการรักษาดังกล่าวแล้วยังมีรายงานการใช้ยาฉีดในกลุ่ม biologic พบว่ามีการตอบสนองต่อการรักษา

#กรมการแพทย์ #สถาบันโรคผิวหนัง #โรคตุ่มน้ำพองเพมฟิกอยด์