บอร์ดกุ้งทัพใหม่ประชุมเข้ม! เดินหน้าจัดทำแผนกุ้งทะเลไทยฉบับใหม่ พร้อมคุมเข้มมาตรการป้องกัน-เฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่

นายบัญชา สุขแก้ว หัวเรือใหญ่กรมประมง นำทีมชริมพ์บอร์ดประชุมครั้งที่ 2 หลังนั่งตำแหน่งอธิบดีกรมประมง ขานรับนโยบายสำคัญกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย

วันที่ 14 มีนาคม 2567 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมกุลาดำ ชั้น 7 อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ ชริมพ์บอร์ด (Shrimp Board) ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2567 เพื่อพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งไทยตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยร่วมกันวิเคราะห์ประเด็นข้อค้นพบสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมกุ้งไทย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านกุ้งทะเลฉบับใหม่

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ในห้วงที่ผ่านมา อาจมีกระแสข่าวที่ทำให้พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเกิดความห่วงกังวลถึงการยกเลิกชริมพ์บอร์ด แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วชริมพ์บอร์ดยังคงมีอยู่และขับเคลื่อนงานมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคณะกรรมการได้จัดประชุมเพื่อพิจารณาประเด็นปัญหาที่ค้นพบในอุตสาหกรรมกุ้งไทย ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงเพาะฟัก โรงอนุบาล ฟาร์มเลี้ยง ไปจนถึงภาคการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และร่วมกันเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านกุ้งทะเลฉบับใหม่ ทดแทนฉบับเดิมที่สิ้นสุดลงเมื่อ ปี 2566 ที่ผ่านมา โดยจะนำนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาเป็นแนวทางในการดำเนินการ มุ่งสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องเกษตรกร ตามหลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ของรัฐบาล

อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านกุ้งทะเลฉบับใหม่แล้ว กรมประมงยังได้ให้ความสำคัญกับข้อห่วงกังวลของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ซึ่งเสนอผ่านชริมพ์บอร์ดในประเด็นโรคอุบัติใหม่ Translucent post-larvae Disease (TPD) หรือ Glass post-larvae disease (GPD) หรือโรคตัวใส ที่พบในประเทศเพื่อนบ้าน โดยกรมประมงมีการสั่งการเร่งด่วนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับมาตรการป้องกันโรคสัตว์น้ำนำเข้า และได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการ 3 จังหวัดชายแดน ที่มีการนำเข้าพันธุ์สัตว์น้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด โดยขอความอนุเคราะห์หน่วยงานในพื้นที่เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการนำเข้ากุ้งทะเลและกุ้งน้ำจืดมีชีวิต ในทุกช่องทางและเพิ่มความเคร่งครัดในการตรวจป้องกันการลักลอบการนำเข้าในช่องทางธรรมชาติ และกรมประมงได้เตรียมการนำประเด็นดังกล่าวเสนอต่อคณะทำงานความร่วมมือด้านการป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายตามแนวชายแดน เพื่อขอความร่วมมือหน่วยงานความมั่นคงซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำทุกช่องทางเข้าตามแนวชายแดนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าระวังป้องกันการลักลอบนำเข้ากุ้งทะเลและกุ้งน้ำจืดมีชีวิต และซากกุ้งทะเล จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรคลายความกังวลในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ หากพบการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ด่านตรวจประมงหรือหน่วยงานของกรมประมง ในทุกพื้นที่