สถาบันการพัฒนาชุมชน เดินหน้าต่อเนื่อง ถอดบทเรียนความสำเร็จ แก้ไขหนี้ค้างชำระ บรรเทาความเดือดร้อนลูกหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดลำปาง

วันที่ 12 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 น. ณ ศาลากลางจังหวัดลำปาง นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้นายสมาน พั่วโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน โดยนางสาวรุ่งนภา อุปมา ผู้อำนวยการกลุ่มงานจัดการความรู้ ลงพื้นที่ถอดบทเรียนความสำเร็จการแก้ไขหนี้ค้างชำระกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ระหว่างวันที่ 11 – 12 มีนาคม 2567 โดยมีนายอาทร พิมชะนก ผู้ตรวจราชการกรม นางทิพย์วรรณ แก้วทอง ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นางอัญชัญ กมุทมาศ ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานและสนับสนุนการบริหารงานพัฒนาชุมชน นางแสงระวี รักสัตย์ พัฒนาการอำเภอห้างฉัตร นางจุฑาทิพย์ ศิริสืบ เกษตรอำเภอห้างฉัตร สำนักงานยุติธรรมจังหวัดลำปาง คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับอำเภอ กลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาท เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานจัดการความรู้ สถาบันการพัฒนาชุมชน เจ้าหน้าที่กลุ่มงานสื่อสารภาพลักษณ์องค์การ สำนักงานเลขานุการกรม เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด/อำเภอ เข้าร่วมฯ

โอกาสนี้ นายอาทร พิมชะนก ผู้ตรวจราชการกรม ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและความสำคัญของกองทุนฯ พร้อมร่วมลงพื้นที่อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เพื่อตรวจติดตาม ผลการดำเนินงานของกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอำเภอ เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์แปรรูป จากพื้นที่แปลง โคก หนอง นา พร้อมให้คำแนะนำการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและกล่าวชื่นชม ให้กำลังใจกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อให้การขับเคลื่อนดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มสตรีในจังหวัดลำปาง

จากนั้น เวลา 13.00 น. ณ ที่ว่าการอำเภอห้างฉัตร นางแสงระวี รักสัตย์ พัฒนาการอำเภอห้างฉัตร ให้การต้อนรับผู้ตรวจราชการกรม พร้อมกล่าวรายงานผลการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอำเภอ การจัดการบริหารหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอำเภอ และรายงานผลสำเร็จในการดำเนินงาน พัฒนาศักยภาพกลุ่มสตรี และให้โอกาสกับสตรีในการสร้างงาน สร้างรายได้ ร่วมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ คณะทำงานจัดการความรู้ สถาบันการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการถอดบทเรียนความสำเร็จ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับจังหวัดและอำเภอ ในการแก้ไขหนี้ค้างชำระกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและถ่ายทำความสำเร็จการขับเคลื่อนดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำปาง ได้ใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ โดยใช้กลไกสำนักงานยุติธรรมจังหวัดลำปาง ร่วมดำเนินการเพื่อลดภาระหนี้ โดยมีข้อดีจากกระบวนการไกล่เกลี่ย อาทิ 1) ลดขั้นตอนการดำเนินการกับลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ (ชั้นอัยการ) กรณีดำเนินคดีตามกฎหมาย 2) สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีตามกฎหมายกับลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ (เฉลี่ยคดีละ 3,000 บาท) และ 3) ลดความตึงเครียดให้กับลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เงินกู้และสร้างความเข้าใจในการชำระหนี้ตามกฎหมาย เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนลูกหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในจังหวัดลำปาง อีกด้วย