กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และภาคีเครือข่าย จัดประชุม Genomics Thailand สัญจรภาคอีสาน ขับเคลื่อนแผนพัฒนาการแพทย์แม่นยำ

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับภาคีเครือข่ายวิจัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหารือแนวทางวิจัยและประยุกต์ใช้การแพทย์จีโนมิกส์ ขับเคลื่อนแผนพัฒนาการแพทย์แม่นยำ เพื่อคนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีความแม่นยำและจำเพาะต่อบุคคลมากขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาหายและ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การแพทย์แม่นยำ ซึ่งใช้ฐานเทคโนโลยี ของจีโนมมนุษย์เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการพัฒนาประเทศตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 โครงการ Genomics Thailand ได้ถูกตั้งขึ้น ในปี พ.ศ.2561 เป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) แพทยสภาแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายภาควิชาการจากสถาบันการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งการริเริ่มดังกล่าวมุ่งประโยชน์ที่จะนำเทคโนโลยีจีโนมมนุษย์ (human genome technology) มาใช้ในการจัดการปัญหาทางสุขภาพและความอยู่ดีกินดีของประชากรไทย โดยแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย พ.ศ.2563-2567 ได้รับมติเห็นชอบ จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2562 และได้รับอนุมัติงบประมาณการดำเนินงานวงเงินกว่า 4,570 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการแพทย์จีโนมิกส์ของอาเซียนภายใน 5 ปี

ในแผนปฏิบัติการบูรณการจีโนมิกส์ ประเทศไทย ประกอบด้วย มาตรการในการนำเทคโนโลยีทางพันธุศาสตร์ก้าวหน้า          มาใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรค วินิจฉัยโรค และดูแลผู้ป่วย อันจะนำมาสู่การ      ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างมาก รวมทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และการให้บริการใน medical hub ซึ่งที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และภาคีเครือข่าย ได้ดำเนินการแผนปฏิบัติการ บูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย ในการพัฒนาเทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ที่เรียกว่าจีโนมิกส์ โดยจะทำการสุ่มตรวจรหัสพันธุกรรมคนไทย จำนวน 50,000 คน มุ่งเน้นศึกษาพันธุกรรมเสี่ยงในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคที่หายาก ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผู้ป่วยที่แพ้ยากันชัก และเภสัชพันธุศาสตร์ พร้อมจัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรมอ้างอิงของชาวไทยและพัฒนาระบบการบริหารจัดการและแปลผลข้อมูลพันธุกรรม นับเป็นการสนับสนุนให้เกิดการ วินิจฉัย ป้องกัน และรักษาผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำตามแนวทาง การแพทย์แม่นยำ ยกระดับการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ พร้อมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสการแข่งขันในธุรกิจด้านบริการการแพทย์และนวัตกรรมสุขภาพ

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ความสำคัญกับโครงการนี้ และมีนโยบายให้มีการจัดประชุมสัญจรในส่วนภูมิภาค               ทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา, ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ สำหรับการประชุม Genomics Thailand สัญจรภาคอีสาน ที่จังหวัดขอนแก่นในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่น  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาคีเครือข่ายวิจัยของมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นักวิชาการ นักวิจัย อาจารย์ในสถาบันการศึกษา นักวิชาการจากกระทรวงสาธารณสุข และผู้สนใจ ประมาณ 100 คน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของการดำเนินโครงการ ตลอดจนการสนับสนุนแนวคิดเชิงการแพทย์แม่นยำให้กับประชาคมในเครือข่ายวิจัยและเป็นการสร้างเครือข่ายวิจัยด้านจีโนมมนุษย์ โดยการทำงานเชื่อมโยงระหว่างนักวิจัยในทีมจีโนมิกส์ไทยแลนด์กับเครือข่ายวิจัยของมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นการรับฟัง พิจารณ์และแลกเปลี่ยนโจทย์วิจัยในประเด็นเป้าหมายของโครงการ เพื่อให้การดำเนินการโครงการ Genomics Thailand เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว