“ภูมิธรรม” ดันนโยบายเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน ภายใต้กระแสการค้าโลกใหม่ ชี้ “ภาคธุรกิจ” เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้ประเทศของเราเติบโตในทิศทางที่ยั่งยืน

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานเปิดงานสัมมนา PostToday Thailand Economic Drive 2024 “ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ 2567” ณ โรงแรมแกรนด์ อีสติน พญาไท กรุงเทพฯ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.00 น.

นายภูมิธรรม กล่าวว่า กระแสการค้าโลกใหม่ มุ่งสู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ดังนั้น แนวทางการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนของประเทศ ต้องมีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งผมคิดว่าเราต้องยึดและน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ภายใต้หลักการมีภูมิคุ้มกัน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ โดยการสนับสนุนองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่จำเป็น ต่อการปรับตัวสู่เศรษฐกิจยั่งยืน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเร่งส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมและการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และมุ่งสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคสีเขียวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม (Innovation Culture) ในองค์กร เพื่อสร้างความคิดริเริ่มใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

ด้านสังคม โดยเพิ่มและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา เร่งพัฒนาคนให้มีความพร้อมในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และพร้อมสำหรับโลกยุคดิจิทัล พัฒนาคนไทยให้เป็นพลเมืองดี มีทักษะ และสมรรถนะ เพื่อนำพาประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง และลดความเหลื่อมล้ำ

ด้านสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวและลดกิจกรรมที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้โมเดล “เศรษฐกิจ BCG” (บีซีจี) (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) ที่นำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มายกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรชีวภาพ ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น Plant-based Meat การใช้ทรัพยากรหมุนเวียนและนำกลับมาใช้ซ้ำ เช่น พลาสติกรีไซเคิล และการใช้พลังงานสะอาดในภาคการผลิตและขนส่ง เป็นต้น

มาตรการสำคัญด้านความยั่งยืนที่เป็นกฎกติกาของประเทศต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM ของสหภาพยุโรป เป็นมาตรการภายใต้นโยบายอียูกรีนดีล กำหนดผู้นำเข้าสินค้าภายใต้มาตรการ ต้องซื้อใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนในการผลิต เริ่มบังคับใช้เมื่อตุลาคม 2566 กับสินค้า 6 กลุ่มแรก ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย อลูมิเนียม และไฮโดรเจน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกจากไทยไป EU ในปี 2566 กว่า 12,000 ล้าน กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation: EUDR) โดย EU กำหนดให้การส่งออกนำเข้าสินค้า 7 กลุ่ม ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน วัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเหล่านี้ จะต้องผ่านการตรวจสอบและรายงานที่มาของสินค้า ว่าไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลาย สำหรับในปี 2566 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าที่อยู่ภายใต้ EUDR ไป EU ราว 15,000 ล้านบาท

กระทรวงพานิชย์มีนโยบายสำคัญ ในการผลักดันเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนมุ่งมั่นที่จะสานต่อและปฏิบัติตามคำมั่นของเป้าหมายดังกล่าว และให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมาย SDGs ในทุกมิติ หากไทยปรับตัวได้ ก็เป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบันผลการดำเนินงานด้าน SDGs ของไทย โดยผลการจัดอันดับ SDG Index ประจำปี 2566 พบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 43 จากทั้งหมด 166 ประเทศ (ขยับขึ้น 1 อันดับจากปี 2565 ซึ่งอยู่อันดับที่ 44 จากทั้งหมด 163 ประเทศ) เป็นที่ 3 ของเอเชีย (รองจากญี่ปุ่น อันดับที่ 21 และเกาหลีใต้ อันดับที่ 31) และอันดับที่ 1 ของอาเซียน ในด้านการค้าการพัฒนาที่ยั่งยืนช่วยเปิดประตูบานใหญ่ของไทยสู่การค้าโลก เป็นโอกาสสำคัญให้กับผู้ผลิตสินค้าและบริการไทย สำหรับกระทรวงพาณิชย์ มีการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง อาทิ

– พัฒนาส่งเสริมศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชนอินทรีย์ (Organic Farm Outlet) เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ ขยายตลาดไปยังผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และตั้งราคาได้สูงกว่า
– ส่งเสริมสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าท้องถิ่น เกิดการจ้างงานในพื้นที่ สร้างรายได้ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ และประชาชนท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน
– การส่งเสริมการส่งออก นำผู้ประกอบการร่วมงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสีเขียวและความยั่งยืน ทั้งในยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา อาทิ BIOFACH 2024 (ไบโอฝาด) เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ณ เยอรมนี ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มอินทรีย์ระดับโลกการพัฒนาผู้ประกอบการ เพิ่มทักษะความรู้ ยกระดับผู้ประกอบการให้มีความพร้อมกับระเบียบและกติกาการค้าใหม่ของโลกที่มุ่งสู่ความยั่งยืน ผ่านการอบรมสัมมนาออนไลน์ออฟไลน์
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาการค้าตามระเบียบการค้าโลกใหม่ ภายใต้คณะกรรมการบูรณาการนโยบายเชิงรุกกระทรวงพาณิชย์ โดยจะสร้างช่องทางให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs เข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับตัว เตรียมพร้อมรับมือ และแสวงหาโอกาสทางการค้าต่อไป

“ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ มีหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนนโยบายการค้า พร้อมที่จะผลักดันนโยบายเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน ภายใต้กระแสการค้าโลกใหม่ ที่มุ่งสู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศสู่ความยั่งยืนได้ ถ้าหากขาดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ซึ่งท่านเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้ประเทศของเราเติบโตในทิศทางที่ยั่งยืน โดยภาครัฐพร้อมที่จะเป็นรัฐที่ส่งเสริมสนับสนุนทุกท่าน ให้สามารถปรับตัวและแสวงหาโอกาสจากการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน” ภูมิธรรม กล่าว