“พัชรวาท” ยกระดับการคุ้มครองสัตว์ทะเลหายาก แก้ไขปัญหาขยะทะเลไทย หนุนประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อความสมบูรณ์ของทะเลไทยยั่งยืน

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนคณะกรรมการฯ และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งนี้มีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องร่วมกันพิจารณาถึง (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะทะเลระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาขยะทะเลแบบบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานดังกล่าวมีประสิทธิภาพ และเห็นผลเป็นรูปธรรม นำไปสู่การบริหารจัดการขยะทะเลของประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเร่งพิจารณา (ร่าง) แผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2568) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนการดำเนินอนุรักษ์และคุ้มครองพะยูนแหล่งที่อยู่อาศัยพะยูนในประเทศไทยให้มีความต่อเนื่อง และเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพะยูนและแหล่งที่อยู่อาศัยเนื่องจากแผนอนุรักษ์พะยูนฯ ซึ่งต้องถือว่าการดำเนินแผนงานดังกล่าวในระยะที่ 1 นั้น ผลออกมาเป็นที่น่ายินดีเพราะสามารถออกกฎกระทรวงประกาศให้แหล่งอาศัยของพะยูนในอำเภอปะเหลียนจังหวัดตรังเป็นพื้นที่คุ้มครองซึ่งถือว่ามีสำคัญต่อการจัดการเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะการจัดการแหล่งหญ้าทะเลที่มีโอกาสได้รับ ผลกระทบจากกิจกรรมการเข้าไปใช้ประโยชน์ทุกด้าน โดยให้มีมาตรการทางกฎหมายในเชิงป้องกัน การแก้ไขปัญหา และฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลที่มีสภาพเสื่อมโทรมจากผลกระทบปัจจัยต่างๆ พร้อมประเมินความเหมาะสมของพื้นที่แหล่งอาหารและแหล่งอาศัยต่อจำนวนพะยูน และการสนับสนุนสร้างเครือข่ายอาสาสมัครให้สามารถจัดการอนุรักษ์พะยูนระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ตนได้เน้นย้ำให้นำปัญหาอุปสรรคจากการดำเนินแผนงานระยะที่ 1  มาปรับปรุงแก้ไข โดยยึดเป้าหมาย การอนุรักษ์พะยูนไม่ใช่เป็นเพียงการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากเท่านั้น แต่ต้องรักษาบ้านของพะยูน ซึ่งหมายรวมถึงการรักษาแหล่งหญ้าทะเลที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยมิติของการอนุรักษ์ พะยูนเพื่อการรักษาความสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ กล่าวเสริมว่า ผลการประชุมในครั้งนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจำนวน 4 แผน ประกอบด้วย นโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ พ.ศ. 2566-2570 แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะทะเลระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566–2570) แผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2568) และแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา (พ.ศ. 2567–2576) พร้อมทั้งเห็นชอบการกำหนดแนวเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประเภทชายหาด ปะการัง กัลปังหา แหล่งหญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายากหรือใกล้สูญพันธุ์ สิ่งมีชีวิตในแนวปะการังหรือแหล่งหญ้าทะเล และแหล่งอาศัยหรือแหล่งหากินของสัตว์ทะเลหายากหรือใกล้สูญพันธุ์ ในพื้นที่ตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ อีกทั้งคณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบแผนที่ข้อมูลวิชาการของระบบกลุ่มหาดประเทศไทย ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2567) ที่เพิ่มเติมอีกจำนวน 21 กลุ่มหาด รวมปัจจุบัน 44 กลุ่มหาด โดยที่ผ่านมา นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวง ทส. ได้กำกับและติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งผลการดำเนินงานโดยรวมที่ได้นำเสนอต่อที่ประชุมครั้งนี้ เป็นเพียงหนึ่งในความสำเร็จที่หลายฝ่ายได้ร่วมกันดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นการผลักดันแผนการดำเนินงานด้านต่างๆจนสำเร็จ ซึ่งแผนงานดังกล่าวเป็นภารกิจหลักของกรม ทช. ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้ ถือว่าเป็นการยกระดับการคุ้มครองสัตว์ทะเลหายากและการจัดการปัญหาขยะทะเลที่สำคัญของประเทศไทย นอกจากนี้ ตนจะเร่งรัดสานต่อแนวนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานการประชุมคณะกรรมการฯ โดยจะหารือและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ส่งเสริมให้เครือข่ายชุมชนชายฝั่งทั้ง 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลทั่วประเทศเข้ามามีบทบาทในการปกป้อง คุ้มครอง ดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นับว่าเป็นกำลังสำคัญต่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเล เนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและได้รับผลกระทบโดยตรงจากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในท้องถิ่น ทั้งนี้ กรมฯ ได้พัฒนาศักยภาพเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลมาอย่างต่อเนื่องให้มีประสิทธิภาพและเกิดความเข้มแข็ง อีกทั้งได้ร่วมกันสอดส่องดูแลระบบนิเวศทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ทั้งด้านการบุกรุกตัดไม้ป่าชายเลน การทำลายปะการัง หญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายากเกยตื้น ขยะทะเล การทำประมงผิดกฎหมาย ละการกัดเซาะเซาะชายฝั่ง อีกด้วย  ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวทิ้งท้าย