กรมการแพทย์เผยความก้าวหน้าการดำเนินการ รพ.กทม.50 เขต 50 รพ.และปริมณฑล โรงพยาบาลราชวิถี 2 (รังสิต) รองรับผู้ป่วยเขตดอนเมือง

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการติดตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข รพ.กทม.50 เขต 50 รพ.และปริมณฑล ที่โรงพยาบาลราชวิถี เมื่อเร็วๆ นี้ ขอชื่นชมการดำเนินการในการดูแลผู้ป่วยเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครตามนโยบาย  โดยเฉพาะการรองรับผู้ป่วยในเขตพื้นที่ดอนเมือง  มีความก้าวหน้าเป็นรูปธรรมอกรมการแพทย์ ของโรงพยาบาลราชวิถี 2 (รังสิต) กรมการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันได้เปิดให้บริการผู้ป่วย จำนวน 84 เตียง ทำให้สามารถเพิ่มอัตราเตียงรองรับรับผู้ป่วยพื้นที่เขตดอนเมือง จากเดิม 0.78 เตียง/1,000 ประชากร เป็น 1.62 เตียง/1,000 ประชากร รองรับการให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งประชาชนยังสามารถเข้ารับบริการจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านได้ง่ายมากขึ้น  ส่งผลให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่อีกด้วย

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โครงสร้างของระบบสุขภาพ กรุงเทพมหานคร มีประชากรในระบบสุขภาพ 3 กองทุน 7.7 ล้านคน มีประชากรแฝง 2.5 ล้านคน มีเตียงภาครัฐและเอกชน จำนวน 30,200 เตียง คิดเป็น 3.95 เตียง/1,000 ประชากร และในพื้นที่เขตดอนเมืองเป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นแต่อัตราเตียงผู้ป่วยอยู่ที่ 0.78 เตียง/1,000 ประชากร จึงอาจทำให้ไม่เพียงพอต่อประชาชนที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ กรมการแพทย์จึงได้ดำเนินการขยายการรองรับผู้ป่วยโดยมอบให้โรงพยาบาลราชวิถี 2 (รังสิต) เข้ามามีบทบาทในการแบ่งเบาภารกิจในการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่โดยรอบ จ.ปทุมธานี และพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนเหนือ โดยเฉพาะเขตพื้นที่ดอนเมืองที่เป็นพื้นที่ติดต่อกัน

นายแพทย์ทัศนชาติ จิตรีธาตุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี 2  เปิดเผยว่า โรงพยาบาลราชวิถี 2 (รังสิต) ได้เปิดให้บริการหอผู้ป่วยในจำนวน 84 เตียง แผนกฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมการติดต่อประสานงานในการส่งต่อผู้ป่วย พื้นที่กรุงเทพฯ ตอนเหนือกับโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) และโรงพยาบาลอื่นๆ ในอนาคต ทั้งนี้ ได้มีการวางแผนการพัฒนาโรงพยาบาลราชวิถี 2 (รังสิต) ในระยะสั้น (2567-2570) โดยการขยายหอผู้ป่วยใน เพิ่มเป็น 5 หอผู้ป่วย ให้รองรับผู้ป่วยได้ จำนวน 120 เตียง เพิ่มเตียง ICU จำนวน 6 เตียง ห้องผ่าตัด 6 เตียง รองรับบริการตลอด 24 ชั่วโมง และขยายแผนกผู้ป่วยนอก  จากเดิม 9 ห้องตรวจ เป็น 12 ห้องตรวจ ซึ่งการดำเนินงานตามแผนนี้จะต้องมีการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ด้วยเช่นกัน อาทิ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป  วิสัญญีแพทย์  รังสีแพทย์  เวชศาสตร์ฟื้นฟู  สูตินรีแพทย์ และจักษุแพทย์ เป็นต้น เพื่อรองรับการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ