“กรมปศุสัตว์เร่งปราบปรามโรงฆ่าสัตว์เถื่อนหนองคาย”

จังหวัดหนองคายเป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อประเทศลาว ระยะทาง 195 กิโลเมตร มีจุดผ่านแดนไปประเทศลาว รวม 6 จุด เป็นจุดผ่านแดนถาวร 2 จุด และจุดผ่อนปรน 4 จุด โดยจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดหนองคายได้แก่ แขวงเวียงจันทน์ นครหลวงเวียงจันทน์ และแขวงบอลิคำไซ ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดของประเทศลาว จังหวัดหนองคายจึงถือได้วามีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรคระบาดสุกรดังกล่าว

นายสัตวแพทย์สรวิศ  ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์เปิดเผยว่าในวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ได้สั่งการให้ชุดเฉพาะกิจกรมปศุสัตว์ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์เขต 4 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหนองคาย และด่านกักกันสัตว์หนองคายปราบปรามโรงฆ่าสัตว์เถื่อนในพื้นที่ เพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคระบาดดังกล่าว โดยสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ 2 ราย โดยรายแรก สามารถจับกุมได้ที่บ้านเลขที่ 203 หมู่ 11 ตำบลสระใคร อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย ตรวจพบภายในโรงฆ่าสัตว์ พบสุกรมีชีวิตรอการฆ่าจำนวน 15 ตัว และอุปกรณ์การประกอบกิจการฆ่าสัตว์ จึงได้แจ้งขอกล่าวหากับนายเอ (นามสมมุติ) ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์ พ.ศ. 2559 มาตรา 15 ตั้งโรงฆ่าสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมทั้งยึดของกลางมูลค่า 100,000 บาท รายที่ 2 จับกุมได้ที่บ้านเลขที่ 233 หมู่ 6 ตำบลโพธิ์ชัย อำเภอเมืองจังหวัดหนองคาย ตรวจพบภายในห้องเย็นโรงฆ่าสัตว์ มีสุกรตายโดยไม่ทราบสาเหตุจำนวน 1 ตัว จึงได้แจ้ง

ข้อกล่าวหากับนายบี (นามสมมุติ) ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง ไม่แจ้งสัตว์ป่วยตายกับสัตวแพทย์หรือสารวัตร มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยึดซากสุกรไปทำลาย มูลค่าของกลางกว่า 20,000 บาท โดยทั้งหมดได้ถูกนำตัวส่งพนักงานสอบสวนในพื้นที่เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

อธิบดีกรมปศุสัตว์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปี 2562 กรมปศุสัตว์สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดแล้วจำนวน 134 ราย มูลค่าของกลางจำนวน 1,428,106 บาท และขอให้ประชาชนตามจังหวัดชายแดนที่มีอาณาเขตติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าซื้อเนื้อสัตว์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาเพื่อบริโภค เนื่องจากอาจเป็นเนื้อสัตว์ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ซึ่งหากมีการแพร่ระบาดในประเทศไทยจะสร้างเสียหายแก่ธุรกิจการเลี้ยงสุกรอย่างมหาศาล และจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง กรมปศุสัตว์จึงขอฝากไปยังประชาชนทุกท่าน หากพบเห็นการฆ่าสัตว์ที่อาจผิดกฎหมาย กรุณาแจ้งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ หรือที่ Application DLD 4.0

ข้อมูล : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ (สพส.