กรมโยธาฯ ระดมความคิด แลกเปลี่ยนความรู้ น้อมนําศาสตร์พระราชา เพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ 6 พื้นที่ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

Featured Video Play Icon

กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การออกแบบพื้นที่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (แก้มลิง) แบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ” ระหว่างวันที่ 5 – 8 มกราคม 2567 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก จังหวัดนครนายก เพื่อถ่ายทอดและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการพัฒนาพื้นที่แบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ ให้แก่เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เป้าหมาย 6 จังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันตก – จังหวัดกาญจนบุรี , ภาคเหนือ – จังหวัดพะเยา , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ – จังหวัดอุบลราชธานี , ภาคกลาง – จังหวัดนครนายก , ภาคตะวันออก – จังหวัดจันทบุรี และภาคใต้ – จังหวัดสตูล รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากสำนัก/กองที่เกี่ยวข้องของกรมโยธาธิการและผังเมือง ให้สามารถดำเนินการออกแบบแนวคิดการพัฒนาพื้นที่เป้าหมายได้ และเกิดการสร้างเครือข่าย ประสานงานแบบบูรณาการ การทำงานร่วมกันที่สอดคล้องกับแนวคิด วัตถุประสงค์ของโครงการ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิดและประสบการณ์ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนโครงการ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า การประชุมและการฝึกปฏิบัติในครั้งนี้ เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน มีการการถ่ายทอดและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการพัฒนาพื้นที่แบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ ให้แก่ผู้ร่วมประชุมฝึกปฏิบัติ จากวิทยากรผู้มีความสามารถหลายท่าน โดยวันสุดท้ายของการประชุมฝึกปฏิบัติ ผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการสามารถนำเสนอผลงานออกแบบพื้นที่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (แก้มลิง) แบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ โดยการน้อมนําศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ต่อผู้มีส่วนได้เสีย 6 พื้นที่ อาทิ รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ องค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานที่ดินจังหวัด เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อแสนแนะต่าง ๆ นำมาบูรณาการร่วมกันในพื้นที่ ขับเคลื่อนโครงการฯ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ หลังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเสร็จสิ้นแล้ว ทุกคนที่เข้าร่วมสามารถออกแบบพื้นที่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (แก้มลิง) แบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริได้ และต่อยอดนำองค์ความรู้ไปพัฒนาใน 6 พื้นที่ เพื่อพัฒนาและบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม – น้ำแล้ง และช่วยเก็บกักน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร ฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อเป็นแหล่งอาหารแก่ชุมชน พื้นที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการพัฒนาพื้นที่แบบอารยเกษตร ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดี Change for Good ในพื้นที่ทุกมิติ